ศบค. ย้ำ "เปิดเรียน" ปลอดภัย ตรวจ ATK ตามความเสี่ยง ไม่ต้องปูพรม

ศบค. ย้ำ "เปิดเรียน" ปลอดภัย ตรวจ ATK ตามความเสี่ยง ไม่ต้องปูพรม

ศบค. แนะเข้ม มาตรการ "เปิดเรียน" 1 พ.ย. ความถี่ตรวจ "ATK" พิจารณาตามพื้นที่ ความเสี่ยง โรงเรียนประเมินตนเองผ่าน Thai stop COVID ครูบุคลากรผู้ปกครอง ประเมินตนเอง Thai Save Thai หากพบการระบาด ไม่จำเป็นต้องปิด รร. ให้ปิดบางห้อง บางชั้นเรียน

วันนี้ (1 พ.ย. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง กรณีเปิดเรียน ว่า 1 พ.ย. เป็นอีกวันที่หลายโรงเรียนเปิดเทอม สิ่งสำคัญ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองถามมาว่า คือ การสุ่มตรวจ ATK มีรายละเอียดอย่างไร ในส่วนของข้อกำหนดฉบับที่ 34 ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศไว้ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน ประกาศ ณ วันที่ 28 ต.ค. 64

 

ได้ระบุในเรื่องของการตรวจคัดกรองโควิดในโรงเรียน สิ่งสำคัญ คือ จะต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. กำหนดได้ตามความเหมาะสม ตามการระบาดของพื้นที่ แยกอำเภอ จังหวัด ซึ่งในข้อสรุปแต่ละพื้นที่จะมีหน่วยงาน สธ. อว. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประชุม พิจารณา ตรวจ ATK ความถี่จะพิจารณาตามพื้นที่ โรงเรียนต้องประเมินตนเองด้วย Thai stop COVID ของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่โรงเรียนจะพิจารณาเปิด ต้องเข้าไปประเมินตนเอง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะช่วยประเมินด้วย

 

ศบค. ย้ำ \"เปิดเรียน\" ปลอดภัย ตรวจ ATK ตามความเสี่ยง ไม่ต้องปูพรม

ศบค. ย้ำ \"เปิดเรียน\" ปลอดภัย ตรวจ ATK ตามความเสี่ยง ไม่ต้องปูพรม

  • ครูประเมินตนเอง Thai Save Thai

 

นอกจากการระดมฉีดวัคซีนในครูและบุคลากรในสถานศึกษาแล้ว จะมีการประเมินตนเองเช่นกัน ด้วย Thai Save Thai ครูต้องประเมินตนเองว่ามีไข้ อาการระบบทางเดินหายใจหรือไม่ มีการเดินทางสัมผัสบุคคลเสี่ยงหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อหรือไม่ ตรงนี้ นอกจากบุคลากร ครู จะต้องประเมินตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองก็ประเมินตนเองเช่นกัน

 

“ในแง่ของการตรวจ ATK คงไม่ใช่การตรวจนักเรียนทุกคน ไม่จำเป็นต้องตรวจปูพรม และสิ่งสำคัญ ต้องอธิบายว่า การตรวจไม่ต้องตรวจอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ของท่าน ตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามพื้นที่และอำเภอ ความเห็นของกรมควบคุมโรค การตรวจ ATK ในเด็กไม่จำเป็นต้องปูพรม ทุกคน หรือทุกสัปดาห์”

 

แนะนำให้ตรวจในกลุ่มเสี่ยง เช่น ประวัติคนในบ้านติดเชื้อ หรือ หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ อาจใช้มาตรการให้นักเรียนหยุดเรียน อาจจะต้องใช้ความพยายามในการสื่อสาร กับผู้ปกครอง หากมีการติดเชื้อในครอบครัว เด็กอาจจะต้องอยู่บ้านกักตัวให้ครบ 14 วัน เน้นย้ำมาตรการสาธารณสุข โรงเรียนต้องจัดเก้าอี้ โต๊ะ เว้นระยะห่าง อากาศถ่ายเท งดการรวมกลุ่ม เช่น กีฬา กิจกรรมที่ทำให้เด็กหลายชั้นมาร่วมกิจกรรม เมื่อเฝ้าระวังเข้มงวด

  • หากติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้ง รร.

 

ทั้งนี้ หากเกิดการติดเชื้อใน โรงเรียน ขอให้ผู้บริหารโรงเรียน และคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการปิดโรงเรียน อาจจะไม่ใช่คำตอบ จะต้องมีการสอบสวนโรค เช่น การติดเชื้อของนักเรียนคนหนึ่ง มีการติดต่อไปยังเพื่อนห้องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน แต่สอบสวนโรคอย่างทันท่วงที การสอบสวนโรคจะทำให้เกิดแนวทาง มาตรการในการครอบคลุมชั้นเรียน กลุ่มเสี่ยง เลือกปิดเฉพาะชั้น หรือครูที่มีความเสี่ยง

 

“สิ่งสำคัญ ต้องเน้นย้ำ COVID Free setting เมื่อมีการเปิดกิจการกิจกรรมมากขึ้น ขอให้ทุกท่าน เน้นย้ำมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ระลึกเสมอว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ดังนั้น การเฝ้าระวังมาตรการสูงสุด จะเป็นไปอย่างปลอดภัย และการเปิดประเทศ จะเป็นไปในทิศทางที่สำเร็จในที่สุด”