เตือนภัย "โควิด" ระดับ3 ความหมาย-ข้อควรระวัง

เตือนภัย "โควิด" ระดับ3 ความหมาย-ข้อควรระวัง

สธ. ประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 3 ทั่วประเทศ เตรียมเข้าสู่การเป็น "โรคประจำถิ่น" พร้อมจับตาการระบาดหลังไทยเจอโควิด "สายพันธุ์ BA.5" แล้ว 1 ราย

พลันที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและบริการร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ กว่า 231 ราย ก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น วันที่ 1 ก.ค.65 ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ Thailand Pass เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มไมซ์ ขอเปิดผับบาร์คาราโอเกะที่ได้รับรอง SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 28 จังหวัด เปิดบริการทั่วทุกพื้นที่ 16 จังหวัดเปิดบางพื้นที่ 12 จังหวัดและเปิดพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 ก.ค.

แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกับทั่วโลก มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัว (Plateau) 23 จังหวัด และสถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง (Declining) 54 จังหวัด ถือได้ว่าแนวโน้มเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic)

ทว่าการประกาศลดระดับการเตือนภัยดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้ประชาชนทุกคนยังต้องมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ งดไปในสถานที่เสี่ยง งดเข้าสถานบันเทิง สถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็มให้เลี่ยงการร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ งดเดินทางไปต่างประเทศ

การใช้ชีวิตร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัยแบบ “โรคประจำถิ่น” จะเกิดได้หรือไม่ให้ พิจารณาแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียงระดับ 2 และระดับ 3 .การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้มากกว่า 60% ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา

โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80% จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ขึ้นไป ก่อน 1 ก.ค.2565 และจำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19 ที่รับการรักษา คูณด้วย 100 จะต้องน้อยกว่า 0.1% รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

หากดูยอดการฉีดวัคซีนมีคำถามว่าจะสามารถทำตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสมในประเทศไทย (28 ก.พ. 2564 - 8 พ.ค. 2565) รวม 134,736,012 โดส ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 56,412,512 ราย (81.1%) ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 51,657,965 ราย (74.3%) ผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 26,665,535 ราย (38.3%)

ขณะที่ กลุ่มเป้าหมายหลักพบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป้าหมาย 12,704,543 ราย ฉีดเข็ม 1 สะสม 84.2% ฉีดเข็ม 2 สะสม 80.0% ฉีดเข็ม 3 สะสม 42.1%  ถือว่ายังห่างจากเป้าหมายที่กำหนด

ซึ่งล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกมายอมรับว่าประเทศไทยเจอ "สายพันธุ์ BA.5" ที่ทั่วโลกจับตาแล้วจำนวน 1 ราย เป็นสัญชาติบราซิล ส่งตัวอย่างตรวจเมื่อ 12 เม.ย.65 ส่วน BA.4 ยังไม่มีรายงานซึ่งวัคซีนที่ไทยฉีดสามารถป้องกันโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้ โดยลดคความรุนแรงของโป่วยหนักและเสียชีวิต หากฉีด 2 เข็มลดการเสียชีวิตได้ 5 เท่าและหากฉีด 3 เข็มลดได้ถึง 31 เท่า