โจทย์ใหญ่ที่ไทยยังต้องฝ่า กว่า ”โควิด19”จะเป็น "โรคประจำถิ่น"

โจทย์ใหญ่ที่ไทยยังต้องฝ่า กว่า ”โควิด19”จะเป็น "โรคประจำถิ่น"

อาจเรียกได้ว่าสถานการณ์โควิด19 หลังสงกรานต์ “หักปากกาเซียน”  เพราะไม่ได้พุ่งขึ้นกระฉูดเหมือนที่คาดการณ์ ตรงข้ามกลับมีแนวโน้มขาลงทั้งผู้ติดเชื้อ ป่วยหนักและเสียชีวิต แต่กว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าก.ค.นี้ ยังมีโจทย์ใหญ่และยากที่ต้องฝ่า

  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565  ได้แก่  1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน  เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียง ระดับ 2 และระดับ 3 

     2.การฉีดวัคซีนโควิด19  ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา  โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%ขึ้นไป ก่อน  1 ก.ค.2565 และ3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา  คูณด้วย 100  จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน 

ระยะโควิด19สู่โรคประจำถิ่น

       อีกทั้ง  แบ่งระยะดำเนินการนำไปสู่โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นเป็น  3+1 ระยะ  ประกอบด้วย ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้  ระยะที่2  Plateau คงตัว  ระยะที่3 Declining ลดลง และ  Post Pandemic ซึ่งขณะนี้จังหวัดส่วนใหญ่กว่า  40 จังหวัด สถานการณ์โควิด 19 ขาลงอยู่ในระยะ Declining ซึ่งเป็นการจ่อที่จะเข้าสู่ Post pandemic ขณะเดียวกัน มีบางจังหวัดที่ยังเป็นขาขึ้น ระยะ Combatting และคงตัว ระยะ  Plateau

    “กว่า 40 จังหวัดมีแนวโน้มผู้ติดโควิด19ลดลง หรือเริ่มทรงตัว และบางจังหวัดเริ่มเข้าสู่ระยะลดลง ซึ่ง ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ ที่จังหวัดส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะลดลงในเดือนนี้หรือเดือนหน้า  ตามเกณฑ์การพิจารณา ทั้งอัตราป่วยตาย การฉีดวัคซีนต่างๆที่จะเป็นเกณฑ์ที่จะเข้าสู่ระยะหลังโควิด19ระบาดแล้ว จึงย้ำว่าทุกจังหวัดช่วงขาลงนี้ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post Pandemic นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.)กล่าว

วัคซีนโควิด19เข็ม 3 โจทย์ใหญ่

    แต่เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ของการเป็นโรคประจำถิ่น จะพบว่า ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่ 0.14 % นับว่าใกล้เคียง 0.1 %มากแล้ว 

     สิ่งที่ดูจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องฝ่าได้เพื่อไปให้ถึงเป้า คือ  “การฉีดวัคซีนโควิด19 เข็ม 3 กระตุ้น”ให้ได้ 60 % ขึ้นไป ซึ่งยอดการฉีดวัคซีนโควิด19สะสมในประเทศไทย ข้อมูล ณ  วันที่  4 พ.ค. 2565  อยู่ที่กว่า 134  ล้านโดส  เป็นเข็ม 3ขึ้นไป  จำนวนกว่า 26  ล้านโดส คิดเป็นเพียง  37.8 %  ยังห่างจากเป้า 60 % อยู่พอสมควร เป็นสิ่งที่จะเร่งดำเนินการภายในระยะ 2 เดือน ก่อนที่จะถึงเป้าหมายเบื้องต้นที่วางไว้ว่าเดือน ก.ค. 2565 โควิด19จะเป็นโรคประจำถิ่น 

 

    “คนมองว่าเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรง ติดเชื้อแล้วมีอาการไม่มาก เลยฉีดวัคซีนแค่ 2 เข็มพอ ซึ่งขอยยืนยันว่าวัคซีน 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโอมิครอนได้ ต้อง 3 เข็ม ขึ้นไป จึงต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุ” นพ.จักรรัฐ กล่าว

         ฉะนั้นแล้ว  หากคนไทยต้องการกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ต้องร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่ขับเคลื่อนที่โควิด19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 

      การฉีดวัคซีนมีความจำเป็นในการลดคความรุนแรงของโรค เพื่อให้มั่นใจมีภูมิคุ้มกันที่จะลดการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย หากฉีด 2 เข็มลดการเสียชีวิตได้ 5 เท่าและหากฉีด 3 เข็มลดได้ถึง 31 เท่า

ทุกจังหวัดทำแผนรับมือโรคประจำถิ่น

     นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ได้เสนอเข้า ศบค.ในการประชุมรอบที่แล้วคือ มอบหมายให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการรับมือการเป็นโรคประจำถิ่น เช่น หากพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ จะมีมาตรการตรวจจับเร็ว และควบคุมโรคอย่างไร การเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มาตรการหน่วยงานองค์กรต้องช่วยกัน ดังนั้นภายในจังหวัดต้องจัดทำแผนของตัวเองและเสนอกลับมาส่วนกลางก่อน ก.ค.นี้  ทั้งนี้ทั้งนั้น การประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ จะประกาศพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งก่อนไม่ได้ เพราะยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน เป้าหมายคือในเดือน ก.ค.นี้
     
ปัจจัยเสี่ยงยอดโควิด19กลับมาพุ่ง

      ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้สถานการณ์พลิก มียอดที่สูงขึ้นอีก จนกระทบแผนและเป้าหมาย นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  1.เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อีกหรือไม่  ซึ่งเท่าที่ติดตามยังไม่มีการกลายพันธุ์อะไรมากนัก ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ อย่างไรก็ตาม  เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ที่สำคัญเมื่อกลายพันธุ์แล้วต้องพิจารณาว่าติดเชื้อง่ายขึ้นหรือไม่   รุนแรงหรือไม่  ดื้อต่อวัคซีน ดื้อต่อการรักษาหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มี แต่ก็คาดเดาไม่ได้  และไม่ควรตื่นกลัวเกินไป เมื่อไหร่ที่มีการกลายพันธุ์ที่เกิดสิ่งเหล่านี้สธ.จะรีบแจ้งประชาชน ส่วนถ้ากลายพันธุ์เล็กน้อยไม่ต้องตื่นกลัว ให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามไป
        2.บุคคล ขณะนี้ประเทศไทยฉีดเข็ม 1 แล้วกว่า 80 % กลุ่มผู้สูงอายุฉีดกว่า 10 ล้านโดสแล้ว เข็มบูสเตอร์คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากคนมีภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อซ้ำโอกาสเกิดน้อยลงและอาการไม่รุนแรง  และ3.ระบบสาธารณสุขรู้จักโควิด19มากขึ้น  รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อมีอาการน้อยไม่ต้องกินยาก็ได้ และมียาใหม่ๆในการรักษาผู้ที่มีอาการหนักหรือมีความเสี่ยง 
        นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ทุกอย่างเป็นตามแผนการคาดการณ์ ที่เหลือเป็นเรื่องของกิจกรรมต่างๆว่าจะทำอะไรบ้าง ปัจจุบันสามารถทำได้เกือบหมด เหลือเพียงการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะอย่างเป็นทางการ  ซึ่งก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่จะดำเนินการ ระยะต่อไปในเดือนพ.ค. ก็ยกเลิกTest and Goในการเข้าประเทศ   และคงประเมินอีกทีหลัง 1 พ.ค.และดูตามขั้นตอนตอ่ไป
      รวมถึง ช่วงเปิดเทอมในเดือนพ.ค.  จะเร่งฉีดให้เสร็จหลังเปิดเทอมประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะคลี่คลายไปได้  และเปิดเทอมแบบOn-siteให้มากที่สุด และถ้าเจอเด็กติดเชื้อก็อย่าตื่นตระหนก แผนเผชิญเหตุโรงเรียนมีการเตรียมการแล้ว แต่การติดเชื้อไม่สิ่งที่ดียังคงต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ถ้าผ่านเดือนพ.ค.ไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผนที่กำหนด
    สิ่งที่คนไทยจะช่วยกันได้ ก็คือ ร่วมมือมาตรการ “2 U”   ป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด(Universal prevention) ด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก งดรับประทานอาหารร่วมกัน และเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น( Universal vaccination)