ปรับแน่! ค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ 492 บาท

ปรับแน่! ค่าแรงขั้นต่ำ  แต่ไม่ใช่ 492 บาท

ปรับแน่! ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ 492 บาท  "รมว.แรงงาน" คาดต้องพิจารณาจากค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ ให้สอดคล้องกับความจริง มาตรฐานทั่วโลก

วันนี้ (1 พ.ค.2565) ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศอัตรา 492 บาท ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน ที่ให้มีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

กรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เป็นการคิดแบบตรรกะที่ไม่เข้าใจ เพราะสมมุติเช่าบ้านอยู่ลำปาง 2,000 บาท ค่าเช่าที่ชลบุรี กรุงเทพฯ ก็อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน ฉะนั้น ต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณ

 

  • ปรับค่าจ้างต้องสร้างสมดุล นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ได้

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเคยเป็นลูกจ้างอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนเข้าใจทุกอย่าง แต่ข้อเรียกร้องนั้นบางครั้ง ต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย หยิน หยางต้องสมดุล

การระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถามว่า นายจ้างบาดเจ็บเท่าไร เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคอง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริงๆ 48 เปอร์เซ็นต์ ไหวหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเอาค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อมาเป็นตัวพิจารณาประกอบกัน ซึ่งมาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด

มีการปรับค่าจ้างอยู่แล้ว แต่ปรับเท่าไรก็ต้องให้นายจ้างอยู่ได้ และลูกจ้างพอไปได้ วันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้างค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่ทำงานในออฟฟิศ

 

  • หวั่นนายจ้างอยู่ไม่ได้แล้วปิดกิจการ

“เราไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่าน เพราะมองว่าค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซียยูเครนด้วย ซึ่งหลายคนกลัวว่าเราจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไปจะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง นายสุชาติ กล่าว