โควิดทำพิษ แรงงานไทยอ่วมถูกเลิกจ้าง องค์กรลูกจ้างร้องขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ

โควิดทำพิษ แรงงานไทยอ่วมถูกเลิกจ้าง องค์กรลูกจ้างร้องขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ

องค์กรลูกจ้าง ระบุโควิด-19 ทำพิษ แรงงานไทยเหมือนตุ๊กตาล้มลุก ต้องสู้ชีวิต เผยหลายอุตสาหกรรมลดเวลางาน เลิกจ้าง ขอก.แรงงาน รัฐบาล ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ให้แรงงานเลือกบำเหน็จ-บำนาญเอง ผลักดันพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ให้สิทธิมนุษย์เงินเดือนได้รับเงินค่าโอที

วันนี้ (1 พ.ค.2565) ที่กระทรวงแรงงาน นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวเสวนาเรื่อง “ เศรษฐกิจยุคโควิดมีผลกระทบกับแรงงานและค่าจ้างอย่างไร?” ในงานวันแรงงานแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2565 จัดโดยกระทรวงแรงงาน ว่า แรงงาน ลูกจ้างไทยอยู่ภายใต้โครงสร้างทุนนิยม ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเบี้ยว ลูกจ้างก็จะถูกให้ออก  ตกงาน แต่ถ้าเศรษฐกิจอยู่ได้ลูกจ้างก็จะกลับมาในระบบแรงงาน

โดยลูกจ้างที่อยู่ในโรงงาน หน่วยงาน องค์กร มีสหภาพแรงงานสามารถอยู่ได้ แม้จะเกิดโควิด-19 เพราะสามารถเรียกร้องจากนายจ้างได้ ขณะเดียวกันนายจ้างก็ยังมีรายได้จำนวนมาก แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มแรงงานที่เกษียณการทำงานไปแล้ว

นายพนัส กล่าวต่อว่าตอนนี้ทุกคนต้องเดินออกจากโรงงานเมื่ออายุ 55-60 ปี และเมื่อทุกคนออกจากโรงงาน หลายคนต้องเลือกระหว่างบำเหน็จกับบำนาญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกบำเหน็จ เพราะต้องเอาเงินมากิน

ทั้งที่จริงๆ แล้วควรเลือกบำนาญ  เนื่องจากตอนนี้ทุกคนอายุยืนยาวมากขึ้น ถ้าเลือกบำเหน็จได้เงินก้อน ทุกคนจะใช้ทันทีและอาจหมด แต่หากเลือกบำนาญ เชื่อว่าทุกคนจะไม่ถอนบำนาญออกจากประกันสังคมแน่นอน  เพราะทุกคนจะมีเงินบำนาญมีกินไปตลอดชีวิต

 

  • ขอลูกจ้างเงินเดือนประจำมีสิทธิได้ค่าจ้างโอที

“อยากบอกว่าในยุคโควิด-19  ลูกจ้างที่ดีที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีรายได้ มีกำไรสามารถอยู่ได้ แต่คนที่ถูกออกจากงานจะลำบากมาก ดังนั้น อยากให้ลูกจ้างทุกคนใช้ชีวิต  และไม่ว่าสถานการณ์อะไรจะเกิดขึ้น อยากให้ทุกคนอยู่ให้ได้ อยู่ให้เป็น ลดความฟุ้งเฟ้อลง ใช้เงินอย่างประหยัด ระมัดระวังตัว ดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรค ขณะที่ในส่วนของกระทรวงแรงงาน รัฐบาลอยากให้เดินหน้าพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... รวมถึง ขอให้ลูกจ้างที่มีเงินเดือนประจำ ให้ได้มีสิทธิได้ค่าจ้างโอที” นายพนัส กล่าว

  • แรงงานไทยเหมือนตุ๊กตาล้มลุก ต้องปรับตัวล้มแล้วลุกให้ได้

นายอนุชิต แก้วต้น สภาองค์กรลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม เพราะมีการล็อกดาวน์ ห้ามออกจากพื้นที่ ทำให้หลายโรงแรมต้องปิดกิจการ

หรือในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลให้ลูกจ้างถูกลดเวลาทำงาน เนื่องจากการส่งออกมีปัญหา เมื่อลดเวลาทำงาน ทำให้ลูกจ้างขาดรายได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้การเยียวยาแต่อาจไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรม SME ที่ต้องปิดกิจการ เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างกลายเป็นแรงงานคืนถิ่น ต้องกลับไปเป็นแรงงานภาคเกษตร

"แรงงานไทยเหมือนตุ๊กตาล้มลุก ต้องสู้ชีวิต เพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว ฉะนั้น อยากให้พี่น้องแรงงานทั่วประเทศ ถ้าไม่สู้ชีวิตจะอยู่ไม่ได้ และขอปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้"นายอนุชิต กล่าว

 

 

  •             ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ปรับค่าแรงขั้นต่ำช่วยพี่น้องแรงงาน

“ขอให้ผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี เป็นผู้เลือกรับบำเหน็จบำนาญชราภาพ คนไหนส่งไม่ถึง 180 เดือน ขอให้ได้บำเหน็จ แต่ถ้าใครส่งเกิน 180 เดือน ขอให้เลือกได้ด้วยตนเองว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญ และอีกเรื่องที่อยากจะขอรมว.แรงงาน ขอให้ออกกฎกระทรวงข้อนี่มา ให้ผู้ประกันตนได้เลือก ไม่ต้องไปคิดแทนพี่น้องแรงงาน และฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรี และรมว.แรงงาน ตอนนี้ได้เวลาที่ขึ้นค่าจ้าง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว เพราะ 2 ปี ที่ผ่านมาไม่มีการปรับค่าแรง แต่ตอนนี้ค่าของแพง ค่าแรงถูก ฉะนั้น ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำ สมควรได้เวลาปรับแล้วนายอนุชิต กล่าว

  • แรงงานเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ 

ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการอิสระ  กล่าวว่าแรงงานไม่ใช่เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และประเทศต้องมองว่าคนจำนวนมากในประเทศ คือ แรงงาน ไม่ใช่คนนั่งกินนอนกิน

"ถ้าจะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ต้องวัดจากจากรายได้ต่อหัวของคนที่เป็นกำลังของแผ่นดิน คือ ประชากรที่อยู่ในภาคแรงงาน  ไม่ใช่วัดจำนวนโรงงาน หรือวัดจากรายได้ส่งออก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ หรือแรงงานนอกระบบซึ่งเป็น 2 เท่าของคนในระบบ คนเหล่านี้ล้วนเป็นลูกจ้าง เป็นแรงงานต้องได้รับการดูแล ได้รับการกินดี อยู่ดี และค่าแรงที่สามารถส่งเสียลูกหลานเรียนในสถาบันการศึกษาดีๆ ได้"  ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ทำไมแรงงานไทยส่วนใหญ่ ไม่เคยฝันให้ลูกตัวเองได้เรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งเพราะรัฐไทยไม่ได้ทำให้พวกเขามีความฝันในเรื่องเหล่านั้น รัฐไทยทำให้แรงงานไทยซึ่งเป็นคนส่วนมากของแผ่นดินไร้ความฝันในการจะส่งลูกหลานให้มีสิทธิเรียน มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาดีๆทั้งที่การศึกษาจะช่วยให้แรงงานไทย ลืมตาอ้าปากได้

"เรามีรัฐบาลและเราเสียภาษีให้รัฐบาล  ดังนั้น รัฐบาลต้องดูแลผู้ใช้แรงงานให้มีชีวิตทัดเทียมกับคนอื่นๆ ต้องช่วยเหลือ และพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี" ศาสตรภิชาน แล กล่าว