ไม่ได้หยุด "วันแรงงาน" นายจ้างต้องโดนอะไร? "สิทธิแรงงาน" ที่คนไทยต้องรู้

ไม่ได้หยุด "วันแรงงาน" นายจ้างต้องโดนอะไร? "สิทธิแรงงาน" ที่คนไทยต้องรู้

แรงงานไทยต้องรู้! "วันแรงงาน" ลูกจ้างต้อง "ได้หยุด" และ "ได้ค่าจ้าง" และนายจ้างที่ใช้ลูกจ้างทำงานในวันแรงงาน จะมีโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเป็นต้องทำงาน จะต้องได้หยุดชดเชยวันอื่นแทน หรือได้รับเงินค่าทำงานวันหยุดเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างวันทำงานปกติ

เมื่อ "แรงงาน" เป็นกำลังหลักสำคัญของชาติ และมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับ "สิทธิแรงงาน" เนื่องใน วันแรงงาน 2565

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนอ่านสิทธิแรงงานที่ควรรู้ และหลักกฎหมายคุ้มครองแรงงานในกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันแรงงาน โดยไม่จำเป็น

"สิทธิแรงงาน" ที่คนไทยต้องรู้

สิทธิแรงงาน (Labour Rights) หมายถึง สิทธิของผู้ใช้แรงงานในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งสิทธิทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เช่น อัตราค่าจ้าง จำนวนชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในที่ทำงาน สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น สำหรับสิทธิแรงงานตามกฎหมายไทย ระบุไว้หลายข้อ ดังนี้

1. เวลาทำงาน

สำหรับงานทั่วไปกำหนดให้ทำไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับงานอันตรายตามที่กำหนดในกฏกระทรวง กำหนดให้ทำไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

2. เวลาพัก 

ในวันที่มีการทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง ภายใน 5 ชั่วโมงแรกของการทำงาน หรือนายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมง ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาทีและเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง

กรณีงานในหน้าที่มีลักษณะต้องทำติดต่อกันไปหรือเป็นงานฉุกเฉินโดยจะหยุดเสียมิได้ นายจ้างจะไม่จัดเวลาพักให้ลูกจ้างก็ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

3. วันหยุดประจำสัปดาห์, วันหยุดประเพณี, วันหยุดประจำปี

วันหยุดประจำสัปดาห์ : ลูกจ้างต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน และลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ (ยกเว้นลูกจ้างรายวันหรือรายชั่วโมง) โดยนายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันล่วงหน้า และกำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้  สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานประมง งานดับเพลิง หรืองานอื่นๆ ตามที่กฎกระทรวงฯ กำหนด นายจ้างและลูกจ้างให้ตกลงกันล่วงหน้า สามารถสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปเมื่อไดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี :  ลูกจ้างต้องได้ไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี

วันหยุดพักผ่อนประจำปี :  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ถ้าลูกจ้างที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี จะให้หยุดตามส่วนก็ได้ ให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหรือกำหนดตามที่ตกลงกัน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้

4. การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด

ในกรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้

ส่วนกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และกิจการอื่นตามที่กระทรวงจะได้กำหนดนายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานใน วันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆ ไป

ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม ทำงานล่วงเวลา (ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)

5. ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด

ถ้าทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน ถ้าทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานนายจ้างต้องจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย 

ถ้าทำงานในวันหยุดในเวลาทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดหรือตามจำนวนผลงาน ที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

6. ค่าชดเชย

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

- ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่ายหรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

หากไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย

นายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างหยุดวันแรงงาน ต้องโดนอะไรบ้าง?

ข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีให้ลูกจ้างทำงานต้องได้เงินเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของวันปกติ

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพุทธศักราช 2541 มาตรา 29 กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย  จึงขอชี้แจงการปฏิบัติเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงาน ในวันแรงงานแห่งชาติ และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน

ส่วนในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น งานในกิจการโรงแรม ร้านขายอาหาร สถานพยาบาล งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง เป็นต้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง กรณีที่ตกลงกันว่าจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ

ทั้งนี้ นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายมีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากลูกจ้าง

หากนายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546

---------

อ้างอิง: 

https://lb.mol.go.th/

https://th.wikipedia.org/สิทธิแรงงาน 

สสค.เลย