"อนุสรณ์ ธรรมใจ" เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 380-400 บาท ห่วงเงินเฟ้อพุ่งครึ่งปีหลัง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" เสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 380-400 บาท ห่วงเงินเฟ้อพุ่งครึ่งปีหลัง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 380-400 บาท ชี้แรงงานนอกระบบมักไม่ได้รับความเป็นธรรม เสนอ 6 มาตรการ แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปแบบ ห่วงขึ้นเพดานดีเซลเป็น 32 บาท กดดันเงินเฟ้อสูงขึ้นช่วงครึ่งปีหลังแตะระดับ 7-8%

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต ได้ให้ความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศ ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือ เกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป 

การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าโดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไหร่ก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยสูงกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% (ซึ่งเป้าเงินเฟ้อเดิมของกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 0.7-2.4%) เงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่ผ่านอยู่ที่ 5.73% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ฉะนั้น ควรมีการปรับค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงานเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมีเงินออม รวมทั้งมีเงินเหลือพอดูแลสมาชิกในครอบครัวได้บ้าง อย่างต่ำปีนี้ควรเห็นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 380-400 บาท

ในปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ 

1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการ กำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง 

2. ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการ คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ และ นภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น

4. ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบ ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบมักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐานโดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ได้ประโยชน์จากระบบประกันสังคมจากสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ หมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1+ บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขเกณฑ์การพิจารณา อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจรวมทั้งไทยมิได้ใช้คำนิยามดังกล่าวขององค์การแรงงานระหว่างประเทศมาเป็นแนวทางในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป

โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก หากภาวะค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด หากแต่ปรับเพิ่มให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น หลักเกณฑ์ค่าจ้างประจำปี

กรณีของไทยนั้น เรามีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำบังคับใช้กับภาคอุตสาหกรรม และบริการของภาคเอกชน ไม่รวมภาคเกษตร และภาครัฐ ตั้งแต่ เมษายน 2516 จุดประสงค์ “เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนา คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือ ระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศและระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ

รศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆ อีก ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียร์มาร์ ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของแรงงานในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิดก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต

นอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษที่แล้วก็เพิ่มน้อยอยู่แล้ว 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ก็ทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 

1. รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง แต่ต้องทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในภาคการผลิตภาคบริการต่างๆ ด้วย ขบวนการแรงงานและนักวิชาการแรงงานได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีแล้ว หากรัฐบาลชุดนี้รับรองอนุสัญญาจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เช่นเดียวกับ การออกกฏหมายเก็บภาษีทรัพย์สินและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและโครงการ EEC อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยในระดับองค์กร อันเป็นพื้นฐานให้ประชาธิปไตยทางการเมืองมีความเข้มแข็ง

2. ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้รัฐบาลดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการ ที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 (เกี่ยวกับการจ้างงานแบบเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค) อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ลูกจ้างซับคอนแทรคได้รับความเป็นธรรมทางด้านสวัสดิการและการจ้างงาน 

3. ขอให้รัฐบาลประกาศยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เฉพาะส่วนที่ตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับลูกจ้างรายวัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๓ มาตรา ๒๗ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย 

4. ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ให้หนี้ที่เกิดจากเงินที่นายจ้างต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 อยู่ในบุริมสิทธิลำดับที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

5. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้

และ 6. ขอเสนอให้สร้างโอกาสให้หญิงและชาย รวมทั้งแรงงานต่างด้าว มีงานที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดความสำเร็จโดยจะต้องมีเสรีภาพ เสมอภาค ความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า เห็นความจำเป็นในการขยับเพดานการแทรกแซงราคาน้ำมันเป็น 32 บาทเพื่อลดภาระทางการคลังและอุดหนุนราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก การใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็นต่อเศรษฐกิจในสถานการณ์ความยืดเยื้อของสงครามระบอบปูตินรัสเซียและยูเครน

แม้แนวโน้มราคาน้ำมันจะไม่พุ่งขึ้นไปเหนือระดับ 130-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกแล้วในช่วงเวลาที่เหลือของปี แต่ราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับสูงเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีกนาน หากเงินบาทอ่อนค่ามากๆ เราอาจจะเห็นราคาน้ำมันไปอยู่ที่เหนือระดับ 45 บาทต่อลิตรได้

หากรัฐบาลมีแนวทางแทรกแซงราคาน้ำมันไม่เกิน 5 บาทต่อลิตร หากสถานการณ์เลวร้ายเต็มที่เลย เราก็ไม่ควรต้องใช้น้ำมันดีเซลเกินราคา 37 บาทต่อลิตร การแทรกแซงราคาน้ำมันไปเรื่อยๆไม่อาจทำได้ในระยะยาวโดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะจะนำมาสู่ปัญหาเรื่องฐานะทางการคลังแน่นอน

ขณะที่การไม่แทรกแซงราคาน้ำมันก็จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยคาดว่าหลังการขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร ประกอบกับการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 3 บาท จะทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นจากระดับเฉลี่ยในระดับปัจจุบันอีกอย่างน้อย 1-2% ซึ่งเท่ากับว่า เราจะเจออัตราเงินเฟ้อในระดับ 7-8% ในช่วงปลายปี

อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว จะกระทบแรงงานผู้มีเงินเดือนประจำ มากกว่า ผู้ประกอบการที่อาจผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ผู้ผลิตจะส่งผ่านต้นทุนเป็นทอดตลาดกระบวนการการผลิต นอกจากนี้ เงินเฟ้อสูงจะกระทบกับ เจ้าหนี้ มากกว่า ลูกหนี้ สิ่งที่จับตา คือ ราคาน้ำมัน ราคาสินโภคภัณฑ์โลกเกี่ยวเนื่องกับสงครามยูเครนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และ ปัจจัยด้านอุปทานเกี่ยวกับการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกและการขาดแคลนวัตถุดิบ

หากอัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ปรับเพิ่ม เงินจะไหลออกจากบัญชีเงินฝากมาถือและลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่วนแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกแม้นอยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่แต่ราคาจะชะลอลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศโดยเฉพาะจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา การที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือทองคำสูงขึ้น จึงกดราคาทองคำไม่ให้สูงขึ้นมาก เพราะการถือหรือลงทุนในทองคำไม่มีดอกเบี้ย ผลกำไรจากการถือและลงทุนในทองคำเป็นผลจากส่วนต่างของราคาซื้อขาย ขณะที่ คริปโตเคอร์เรนซี่นั้นมีความเสี่ยงสูงกว่า ทองคำ มาก และ มีแนวโน้มเกิดฟองสบู่แตกอีกรอบหนึ่งหากทิศทางดอกเบี้ยโลกยังปรับเพิ่มขึ้นไปต่อเนื่อง