UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND

UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND

 

UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND  ร่วมลดขยะในทะเลไทยเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

ทะเลไทยถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับของโลก  ด้วยเพราะหาดทรายสีขาว น้ำทะเลใส แนวปะการังสมบูรณ์ เหล่านี้ล้วนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศต่างก็แวะมาเที่ยวทะเลไทยในทุกๆปีด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ปริมาณขยะในท้องทะเลของไทยเกือบทุกแห่งก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ไทยถูกจัดให้ติดอันดับ 5 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเลมากสุดซึ่งเป็นผลจากการสำรวจของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจียในปี 2558  และยังสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี พ.ศ.2558 โดยชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดมีปริมาณขยะถึง 10 ล้านตันต่อปี

ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตัน ที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี และข้อมูลจากการสำรวจพบอีกว่าปริมาณร้อยละ10 ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000- 60,000 ตันต่อปี ประเมินว่าในแต่ละปีจะมี ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 50,000 ตันหรือ 750 ล้านชิ้น ซึ่งขยะเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ปะการังในไทยลดลงทุกปี

ขณะที่ปะการังนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสุดในทะเล และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นขยะยังส่งผลต่อการตายของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่วิกฤตทางทะลไทย  จะรอเพียงพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านคงไม่พอเพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขและฟื้นฟูจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป

โครงการ UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND  จึงเกิดขึ้นโดยความร่วมมือจากการเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (ผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND ที่ประเทศสเปน ตั้งแต่ปี 2558) เพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี  กล่าวว่า  พีทีทีจีซี   มีความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทาง Sustainable Business ในการดำเนินโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND เพื่อลดปริมาณขยะในทะเลและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล    ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการ สายใยซั้งเชือก PTTGC สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำชายฝั่งทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเล จังหวัดระยอง    

โครงการนี้ มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่า   โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่   ร่วมรณรงค์การนำขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) ในทะเลและพื้นที่ชายฝั่งมาใช้ซ้ำโดยการแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์และพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าและช่วยประหยัดพลังงานและน้ำในการผลิตในอุตสาหกรรมช่วยลดมลพิษ ในทะเลและช่วยฟื้นฟูและดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม

ทั้งนี้  ระยะเวลาการดำเนินโครงการประมาณ 3 ปี  โดยจะนำร่องพื้นที่ทะเลจังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี  รวมไปถึงพื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บขยะในทะเลไทยของโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND ได้แก่ ฝั่งทะเลตะวันออก  (เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ฝั่งทะเลอ่าวไทย (เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และ ฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ   และในปีแรกนี้ทางพีทีทีจีซี ทำการศึกษา Business Model โดยจะนำความสำเร็จของทวีปยุโรป มานำเสนอลูกค้าที่รับซื้อเม็ดพลาสติกจากพีทีทีจีซี ไปผลิตผ้าผืนหรือแผ่นพลาสติก ให้หันมาใช้วัตดุดิบการขยะจากทะเลที่รีไซเคิลแล้ว  ซึ่งคาดหวังว่า โครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND จะเป็นการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การลดปริมาณขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

นายยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า ททท. พีทีทีจีซี และ ECOALF Foundation  ได้กำหนดแผนดำเนินโครงการร่วมกันภายใต้โครงการดังกล่าวที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่องอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

“ การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆของประเทศ แต่ด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวจากการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 สะท้อนให้เห็นความท้าทายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว และในแหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ยังคงประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว และเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ   น้ำเสีย  โดยขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งในระยะแรกของโครงการนี้ ทางททท.จะรณรงค์สร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการเก็บขยะทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ และมุ่งหวังการเก็บขยะให้ได้ปีละ 1หมื่น1พันล้านชิ้น” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ดังนั้น  ทะเลไทยจะกลับมาสวยงามก็ต้องเริ่มต้นจากตัวเรามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะในทะเล กับ UPCYCLING  THE OCEANS, THAILAND ที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการดังกล่าวที่ดำเนินการจัดเก็บขยะในทะเลไทยอย่างเป็นระบบ  ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทะเลให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สวยงามเพื่ออนาคตการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน