บัตร 2 ใบ “เนวิน”พ่ายซ้ำซาก บทเรียน"บุรีรัมย์โมเดล"

บัตร 2 ใบ “เนวิน”พ่ายซ้ำซาก บทเรียน"บุรีรัมย์โมเดล"

คนสุรินทร์ส่วนใหญ่ยังชื่นชอบทักษิณ และเพื่อไทย อีกด้านหนึ่ง คนเมืองช้างบางส่วนไม่ชอบเนวิน และมองการพัฒนาแบบบุรีรัมย์โมเดลเป็นเชิงลบ หากเป็นไปได้ ครูใหญ่เนวินก็คงอยากได้บัตรใบเดียว เพราะสามารถเก็บตกคะแนนที่ได้อันดับ 2 และ 3 ไปรวมเพิ่มยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

กติกาเลือกตั้งยังไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หรือใบเดียว ส่อเค้าจะลับลวงพรางอย่างแปลกๆ       

น่าจับตาพรรคขนาดกลาง ที่กำลังเบ่งพลังเป็นพรรคขนาดใหญ่อย่างภูมิใจไทย ที่เคยพ่ายเลือกตั้งปี 2554 ทำเอาเข็ดหลาบกับบัตร 2 ใบ จึงงดออกเสียงตอนโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์

กลยุทธ์บ้านใหญ่แบบ “เนวิน ชิดชอบ” ใช้ได้ในบางพื้นที่ สำหรับสมรภูมิภาคอีสาน แบรนด์คนแดนไกลยังฝังลึก และเป็นโจทย์ยากของภูมิใจไทย

กรณีเลือกตั้งเมืองช้าง “เนวิน” ได้รู้ซึ้งถึงการขายแบรนด์สีน้ำเงินนั้น ไม่ง่าย และไม่ประสบความสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง

ข่าวที่เล็ดรอดมาโดยสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า รัฐมนตรีภูมิใจไทยเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรกลับมาใช้บัตรใบเดียวแทนบัตร 2 ใบ

วันที่ 23 ก.พ.2565 ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย จึงต้องมาแถลงกรณีดังกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยจะไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้มีการย้อนไปใช้กติกาแบบบัตรใบเดียว ดังนั้น กระแสข่าวที่ออกมาว่า พรรคภูมิใจไทยจะผลักดันให้กลับไปใช้บัตรใบเดียว จึงเป็นความเท็จ

ถ้าจำกันได้ ช่วงที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์จะสนับสนุนให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ตอนโหวตลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าภูมิใจไทยได้งดออกเสียงทั้งพรรค

ต้องยอมรับว่า ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และบัตรใบเดียว เป็นกติกาที่ตอบโจทย์ภูมิใจไทย หลังเลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เขต 39 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12 คน รวมทั้งสิ้น 51 คน (ยังไม่นับรวมกลุ่ม ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไทย พลังประชารัฐ)

ครูใหญ่ของชาวภูมิใจไทย “เนวิน” เคยนำทัพเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งในปี 2554 เป็นกติกาบัตร 2 ใบคล้ายรัฐธรรมนูญ 2540 ผลปรากฏว่า ค่ายสีน้ำเงินพ่ายยับ เฉพาะสนามอีสาน ภูมิใจไทยไม่อาจสู้กระแสยิ่งลักษณ์ได้เลย ตอนนั้น ภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เขต 29 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน

การเลือกตั้งครั้งนั้น เนวินได้บทเรียนราคาแพง แม้จะทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ แต่ไม่มีกระแสก็มิอาจเอาชนะคู่แข่งได้

มีตัวอย่างของอดีต ส.ส.สุรินทร์ คนหนึ่งคือ กิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ ลูกชายของเสี่ยติ่ง กิติเมศวร์ รุ่งธนเกียรติ อดีตนายก อบจ.สุรินทร์ ที่สวมเสื้อภูมิใจไทย สู้ศึกมา 2 ครั้งแต่สอบตกหมด

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 กิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ อดีต ส.ส.สุรินทร์ ประกาศลาออกจากพรรคภูมิใจไทย โดยอ้างว่าทำเต็มที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ “ผมขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านหัวหน้าพรรค ท่านเลขาธิการพรรค..”

เลือกตั้ง ส.ส.สุรินทร์ ปี 2562 เฉพาะเขต 2 กิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ ภูมิใจไทย ได้อันดับ 2 และย้อนไปปี 2554 กิตติศักดิ์ ภูมิใจไทย ได้อันดับ 2

กรณีของกิตติศักดิ์ ลูกชายเสี่ยติ่งที่เมืองสุรินทร์ สะท้อนว่า ภูมิใจไทยยังชนะกระแสทักษิณไม่ได้ แม้เนวิน ชิดชอบ หมายมั่นปั้นมือจะขยายฐานการเมืองจากบุรีรัมย์มายังสุรินทร์ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

สุรินทร์เป็นสนามหนึ่งที่ “เนวิน” ครูใหญ่ภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือจะทำให้เป็นเหมือนบุรีรัมย์ เพราะเมืองช้างเป็นบ้านเกิดของบิดา ชัย ชิดชอบ

เลือกตั้งปี 2554 เนวินมอบให้ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เป็นแม่ทัพใหญ่ พร้อมกับอดีต ส.ส.สุรินทร์หลายสมัย ผลเลือกตั้งกลับพลิกล็อก ภูมิใจไทยพ่ายเกือบหมด ยกเว้นปกรณ์คนเดียว ที่ได้เป็น ส.ส.เขต 1

เลือกตั้ง 2562 สนามสุรินทร์ เก้าอี้ ส.ส.ลดเหลือ 7 ที่นั่ง ค่ายสีน้ำเงินวางตัวอดีต ส.ส.ไว้เพียบ อาทิ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร กิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ สาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ และพรชัย มุ่งเจริญพร ปรากฏว่า มีปกรณ์ได้เข้าสภาฯ เพียงคนเดียว

ว่ากันว่า คนสุรินทร์ส่วนใหญ่ยังชื่นชอบทักษิณ และเพื่อไทย อีกด้านหนึ่ง คนเมืองช้างบางส่วนไม่ชอบเนวิน และมองการพัฒนาแบบบุรีรัมย์โมเดลเป็นเชิงลบ

ฉะนั้น หากเป็นไปได้ ครูใหญ่เนวินก็คงอยากได้บัตรใบเดียว เพราะสามารถเก็บตกคะแนนที่ได้อันดับ 2 และ 3 ไปรวมเพิ่มยอด ส.ส.บัญชีรายชื่อได้