เกมกล "เนวิน" - "อีโต้อีสาน" ซบ "ทักษิณ"

เกมกล "เนวิน" - "อีโต้อีสาน" ซบ "ทักษิณ"

แม้การเลือกตั้งใหญ่ ของ "นักการเมือง" เพื่อชิงตำแหน่ง "ส.ส." ยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ แต่การจับขั้วทางการเมืองแบบ "ใต้ดิน" ได้เริ่มขึ้นแล้ว

          กลับ เพื่อไทย แบบเงียบๆ เหมือนมีเงื่อนงำอะไรบางอย่าง สำหรับ ธีระชัย แสนแก้ว อดีต รมช.เกษตรฯ สายตรงเนวิน ชิดชอบ โดยมีการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊ค ธีระชัย แสนแก้ว อีโต้อีสาน เป็นภาพตัวเขาเองสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย 

          อดีต ส.ส.คนดังเมืองอุดรธานี ยิงเพลทบนหน้าฟีดข่าวมีข้อความว่า "ผมกลับมาแล้ว" ปรากฏว่า มีผู้มาแสดงความยินดีปรีดากับอีโต้อีสานมากมาย 

 

          ปัจจุบัน ธีระชัย แสนแก้ว มีตำแหน่งเป็นข้าราชการรัฐสภา ฝ่ายการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 (ศุภชัย โพธิ์สุ)

เกมกล \"เนวิน\" - \"อีโต้อีสาน\" ซบ \"ทักษิณ\"

           2-3 ปีมานี้ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของอีโต้อีสาน จะมีน้อยมาก แต่หากเป็นข่าวสายเกษตร จะเห็นชื่อธีระชัย แสนแก้ว เป็นข่าวบ่อยมาก

          เนื่องจากธีระชัย มีตำแหน่งเป็นประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

          ธีระชัย และ สุภรณ์ เป็น ส.ส.พร้อมกันในฤดูเลือกตั้ง ปี 2544 สีเสื้อพรรคไทยรักไทย ทั้งคู่เติบโตมาจากฐานกลุ่มเกษตรกร

          ธีรชัย มาจากชาวไร่อ้อย

          ส่วน สุภรณ์ มาจากชาวไร่มันสำปะหลัง

เกมกล \"เนวิน\" - \"อีโต้อีสาน\" ซบ \"ทักษิณ\"
 

          ถ้ายังจำกันได้ ธีระชัย แสนแก้ว อดีต ส.ส.อุดรธานี และสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา ทำอัลบั้มเพลงชุดพิเศษในนาม "แรมโบ้-อีโต้อีสาน" ผู้พิทักษ์นายกฯทักษิณ กลายเป็นฉายาประจำตัวของนักการเมืองทั้งสองตราบเท่าทุกวันนี้ 
 

          สมัย รัฐบาลสมัคร "เนวิน ชิดชอบ" ผลักดันธีระชัย แสนแก้ว ให้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ หลังยุบพรรคพลังประชาชน เวลานั้น อีโต้อีสานจับมือขวัญชัย ไพรพนา จัดตั้งมวลชนคนรักทักษิณเผชิญหน้ากับคนเสื้อเหลือง
 

          หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เนวิน ชิดชอบ หอบ ส.ส.ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประมุขบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ดันศุภชัย โพธิ์สุ เป็น รมช.เกษตรฯ

          ว่ากันว่า สมัยโน้น ธีระชัย แสนแก้ว และศุภชัย โพธิ์สุ เปรียบเสมือนเป็นมือซ้ายมือขวาในการทำงานการเมืองในพื้นที่อีสานเหนือ

          การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 ธีระชัย รับบทแม่ทัพอุดรธานี จัดทัพชนพรรคเพื่อไทย โดยส่งน้องชาย อุทัย แสนแก้ว ลงสนามแข่งกับเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย ปรากฏทีมภูมิใจไทย พ่ายยับทุกเขต

 

          ไม่เฉพาะที่สนามอุดรฯ พรรคภูมิใจไทยปราชัยเกือบทั้งภาคอีสาน ด้วยเจอคนเสื้อแดงตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศนายใหญ่ ด้วยเหตุนี้ เนวิน ชิดชอบ จึงเปลี่ยนจุดยืนค่ายสีน้ำเงิน จากยืนอยู่ขั้วตรงข้ามทักษิณ มาเป็นขั้วกลางๆ เลือกข้างไหนก็ได้

เกมกล \"เนวิน\" - \"อีโต้อีสาน\" ซบ \"ทักษิณ\"

          ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ธีระชัยพยายามสร้างฐานมวลชนไร่อ้อย และแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยตัวเขานำทีมลงสมัคร ส.ส.อุดรฯ พร้อมน้องชาย อุทัย แสนแก้ว

 

            สำหรับ อีโต้อีสาน ลงสมัคร ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ 5 (อ.กู่แก้ว อ.ไชยวาน อ.วังสามหมอ อ.ศรีธาตุ และอ.กุมภวาปี) เขตนี้เป็นพื้นที่เดิมของธีระชัย แสนแก้ว ตั้งแต่สมัยสังกัดพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน

 

          ผลการเลือกตั้งสร้างความเจ็บช้ำให้แก่ธีระชัยเป็นอย่างมาก เพราะจุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ ภรรยา เกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรฯ พรรคเพื่อไทย ได้ 40,271 คะแนน และธีระชัย ได้แค่ 17,643 คะแนน มิหนำซ้ำ อานันท์ อมรินทร์ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 15,321 คะแนน 

 

          ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น คณะก้าวหน้า สามารถยึดเทศบาลศรีธาตุ และได้นายก อบต.หลายแห่งในเขตเลือกตั้งของธีระชัย ชีวิตทางการเมืองดูมืดมน หากเขายังอยู่พรรคเดิม

 

          ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ของอีโต้อีสานก็คือ การหวนคืนสวมเสื้อเพื่อไทย ประกอบกับการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ อุดรธานี มี ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน รวมแล้ว 9 คน จึงทำให้การจัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ส.ไม่เป็นปัญหา

เกมกล \"เนวิน\" - \"อีโต้อีสาน\" ซบ \"ทักษิณ\"

          การกลับค่ายสีแดงของธีระชัย แสนแก้ว เป็นเรื่องที่เนวิน ชิดชอบ รับรู้อยู่แล้ว และหากไม่ได้ไฟเขียว อีโต้อีสานคงไม่กล้าขยับออกจากค่ายสีน้ำเงิน

 

          ยุทธศาสตร์ของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ อิงตามกลยุทธ์สามก๊ก ศัตรูหรือมิตรล้วนลื่นไหลไปตามสถานการณ์ เหมือนคำของโจโฉที่ว่า

 

          "ศัตรูของศัตรูคือมิตร มิตรของศัตรูคือศัตรู ศัตรูของมิตรคือศัตรู มิตรของมิตรคือมิตร"


          แม้การเลือกตั้งทั่วไปยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ แต่การจับขั้วทางการเมืองแบบใต้ดิน ได้เริ่มขึ้นแล้ว วิถีของนักเลือกตั้ง ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องการเจรจาและต่อรองผลประโยชน์เหมือนในอดีต.