"ส.ว." จ่อไม่รับ "ร่างพ.ร.ป." ของทุกพรรคการเมือง

"ส.ว." จ่อไม่รับ "ร่างพ.ร.ป." ของทุกพรรคการเมือง

"กิตติศักดิ์-เสรี" เผยตรงกัน เตรียมรับหลักการ ร่างแก้ไขพ.ร.ป. เสนอจาก ครม. ไม่เอาของพรรคการเมือง ซัด "เพื่อไทย" แก้เนื้อหาเปิดทางคนนอก คือ ไม่เคารพกติการัฐธรรมนูญ

         นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.  ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรัฐสภา เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เตรียมใช้ในการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ ที่มีส.ส.เข้าชื่อเสนอรวม 10 ฉบับ ว่า ตนจะลงมติรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ... และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ส่วนร่างพ.ร.ป.ที่เสนอโดย ส.ส.ฝั่งรัฐบาล และ  ส.ส.ฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านจะไม่ลงมติให้ผ่าน โดยเฉพาะ ฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่ขอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และ มาตรา 29   เปิดช่องให้คนนอกแทรกแซงครอบงำพรรคได้

 

           "ผมมองว่าคือการฉวยโอกาสลักไก่ เพื่อผลประโยชน์คนนอกถือว่าน่าเกลียด อาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนกลไกป้องกันการแทรกแซงครอบงำจากคนภายนอก ส่วนที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า การรับขอฟังคำปรึกษา หารือจากคนนอก ไม่ถือเป็นการครอบงำ ถ้าการให้คำปรึกษาเป็นเพียงการเสนอแนะ แต่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่กับพรรคนั้น เป็นการตีความเข้าข้างตัวเอง ไม่คิดเคารพกติกากฎหมาย" นายกิตติศักดิ์ กล่าว 

 
 

       ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวในประเด็นเดียวกัน ด้วยว่า ส่วนตัวจะลงมติให้ผ่านเฉพาะร่างพ.ร.ป.ที่เสนอโดย ครม. เท่านั้น แต่ตนไม่สามารถตอบแทนส.ว.ทั้งหมดได้ว่า จะลงมติเป็นเช่นไร สำหรับเหตุผลของตนนั้น เนื่องจากเนื้อหาของครม. นั้นครอบคลุม เป็นกลางมากที่สุด ส่วนฉบับที่เสนอแก้ไขโดย ส.ส.นั้นมองว่าทำเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง ไม่ช่วยพัฒนาการเมือง

 

 

        นายเสรี กล่าวด้วยว่าสำหรับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ของพรรคเพื่อไทย  พบว่าเปิดช่องให้คนนอกแทรกแซงพรรคการเมือง แม้อ้างว่าขอคำปรึกษาหารือ ไม่เข้าข่ายครอบงำ ตนมองว่าเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก เพราะที่สุดแล้ว คือ การเปิดช่องให้คนนอก นอมินี นายทุนแทรกแซงชักใยอยู่เบื้องหลัง หรือ อ้างว่าเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมือง ตนมองว่าเป็นประเด็นที่พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการกลั่นแกล้งจริงหรือไม่

\"ส.ว.\" จ่อไม่รับ \"ร่างพ.ร.ป.\" ของทุกพรรคการเมือง

 

       นายเสรี กล่าวด้วว่า ตนมองว่าการพิจารณาแก้ไขกฎหมายลูก ทั้ง 2ฉบับ ต้องทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้มีโอกาสยุบสภาได้ตลอดเวลา เพราะมีปัญหาความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลมาก ถ้ากฎหมายลูกทั้ง 2ฉบับ ไม่เสร็จก็เลือกตั้งไม่ได้ ถ้ายุบสภาขณะที่กฎหมายลูกไม่เสร็จ ยิ่งยุ่งกันใหญ่.