วัยทำงาน Gen Y Gen Z พอใจกับงานที่มีเป้าหมาย ไม่ทำงานที่ขัดกับค่านิยมตนเอง

วัยทำงาน Gen Y Gen Z พอใจกับงานที่มีเป้าหมาย ไม่ทำงานที่ขัดกับค่านิยมตนเอง

หนุ่มสาว Gen Y Gen Z จะรู้สึกพึงพอใจในงานมากขึ้น หากได้ทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจน และเลือกที่จะไม่ทำงานที่ขัดกับค่านิยมส่วนตัว

KEY

POINTS

  • โลกการทำงานในอนาคตอันใกล้นี้ ประชากรหนุ่มสาวชาว Gen Z กำลังเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรวมกับชาวมิลเลนเนียล (Gen Y) จะกลายเป็นแรงงานหลักในตลาดงาน
  • 86% ของ Gen Z  และ 89% ของ Gen Y ชี้ว่า พวกเขาจะรู้สึกพึงพอใจในงาน เมื่อได้ทำงานที่มีจุดมุ่งหมาย และอยากทำงานกับองค์กรที่มีค่านิยมสอดคล้องกับตนเอง
  •  50% ของ Gen Z และ 43% ของ Gen Y มีแนวโน้มที่จะไม่ทำงานกับบริษัทที่มีเป้าหมายงานไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนมากขึ้น เช่น บริษัทที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน หรือขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของพนักงาน

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าโลกการทำงานในอนาคตอันใกล้นี้ ประชากรหนุ่มสาวชาว Gen Z กำลังเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รุ่นพี่ชาวมิลเลนเนียล (Gen Y) ก็ก้าวสู่ตำแหน่งสูงขึ้นหรืออายุงานมากขึ้น ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้หากรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นแรงงานหลักในตลาดงานของหลายประเทศทั่วโลก เมื่อพนักงานรุ่น Gen X (ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 หรือมีอายุ 44-59 ปี, อ้างอิง: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง) หรือ Baby boomer อีกบางส่วน ได้ทยอยเกษียณอายุงานออกไปเรื่อยๆ 

เมื่อ Gen Y Gen Z เป็นคนสองรุ่นที่จะยังอยู่ในตลาดแรงงานไปอีกนานหลายปี องค์กรต่างๆ ควรรู้ลักษณะพื้นฐานทางความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม ของแรงงานสองกลุ่มนี้ เพื่อจะได้ตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านเจนเนอเรชันในที่ทำงานได้ทัน อาจเริ่มจากการดูข้อมูลผลสำรวจ “Gen Z and Millennial Survey 2567” ของ Deloitte ซึ่งทำการสำรวจว่าคนทั้งสองรุ่นนี้มีความคาดหวังต่อการทำงาน และมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างไร ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี AI ? 

โดยรายงานดังกล่าวจัดทำเป็นปีที่ 13 โดยมีการได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 23,000 ราย ใน 44 ประเทศ ทั้งนี้ ทีมวิจัยสรุปข้อมูลได้ว่า ปีนี้ ชาว Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียล กำลังต่อสู้กับความไม่มั่นคงทางการเงิน และความวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพวกเขายังมุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตที่ดีขึ้น 

ขณะเดียวกันก็พิจารณาว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น AI จะส่งผลกระทบต่องานของพวกเขาอย่างไร รวมถึงพวกเขาได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาต้องการเห็นในที่ทำงานและในสังคมในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ได้นำเสนอข้อมูลแยกย่อยออกเป็นแต่ละหัวข้อ ดังนี้ 

Gen Y-Z บางส่วนรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน

ค่าครองชีพถือเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของกลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennial เป็นปีที่สามติดต่อกัน ประมาณ 6 ใน 10 ของ Gen Z (56%) และ Millennials (55%) ชี้ว่า พวกเขามีเงินใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน โดยคนรุ่นเจนซีมีลักษณะการใช้เงินแบบนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนเจนวาย (5 คะแนนต่อ 3คะแนน) และประมาณ 3 ใน 10 ของคนทั้งสองรุ่นบอกว่า พวกเขารู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงมองโลกในแง่ดี โดยหากใช้จ่ายอย่างระมัดระวังสถานการณ์ต่างๆ อาจดีขึ้น เกือบ 1 ใน 3 ของคนทั้งสองรุ่นเชื่อว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศของตนจะดีขึ้นในปีหน้า ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วและอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่ที่ทำการสำรวจมาในปี 2020 และเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่ม Gen Z (48%) และ 4 ใน 10 ของคนรุ่นมิลเลนเนียล (40%) คาดหวังว่าสถานการณ์ทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในปีหน้า

Gen Y-Z จะพึงพอใจในงาน หากได้ทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจน และตรงกับค่านิยมของตน

แม้ว่าการเงินจะมีบทบาทต่อการตัดสินใจเลือกอาชีพของคน Gen Y และ Gen Z จำนวนมาก แต่การหางานที่มีค่าจ้างสูงๆ ยังคงไม่ใช่เป้าหมายหลักในการทำงานของคนทั้งสองรุ่น เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับความสมดุลชีวิตการทำงานมากที่สุด (ถูกนำมาพิจารณาเลือกนายจ้างเป็นอันดับแรก) รวมถึงเลือกงานจากความพึงพอใจในงาน

โดย Gen Z 86% และคนรุ่นมิลเลนเนียล 89% ชี้ว่า การมีความรู้สึกมีจุดมุ่งหมายในที่ทำงาน เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความพึงพอใจในการทำงาน และพวกเขาต้องการทำงานให้กับองค์กรที่มีค่านิยมสอดคล้องกับตนเอง 

50% ของ Gen Z และ 43% คนรุ่นมิลเลนเนียล มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะไม่ทำงานกับบริษัทที่มีเป้าหมายงานไม่สอดคล้องกับคุณค่าส่วนบุคคลของตน ขณะที่ 44% ของ Gen Z และ 40% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล รายงานว่า พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำงานกับนายจ้างหรือบริษัทที่มีการดำเนินงานที่มีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีส่วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน หรือขาดการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของพนักงานและเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

Gen Y-Z ยังไม่คุ้นเคยกับ AI ต้องการให้นายจ้างช่วยฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่

วัยทำงานรุ่น Gen Z Gen Y เชื่อว่า AI จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเส้นทางอาชีพและวิธีการทำงานของพวกเขา และพวกเขาอยากให้นายจ้างเพื่อช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงานกับเอไอ โดยเมื่อพูดถึงเอไอพวกเขาจะนึกถึงความไม่แน่นอนในอาชีพการงาน โดยเฉพาะวัยทำงานผู้หญิงมีความกังวลมากกว่าวัยทำงานผู้ชาย โดยเปรียบเทียบกันแล้วพบว่า ผู้ชาย Gen Z 63% และผู้ชาย Gen Y 62% รู้สึกสบายใจ ส่วนผู้หญิง Gen Z เพียง 54% และ ผู้หญิง Gen Y เพียง 52% เท่านั้นที่ชี้ว่า พวกเขาสบายใจ 

วัยทำงานทั้งสองรุ่นรับรู้และเชื่อว่า AI จะเข้ามาทำให้พวกเขามีเวลามากขึ้น ช่วยปรับปรุงวิธีการทำงาน และปรับปรุงสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตของพวกเขา แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะมีความกังวลมากขึ้นว่า ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะเข้ามาแย่งงานและทำให้คนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากขึ้น วัยทำงานทั้งสองรุ่นจึงอยากเท่าทันเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการเพิ่มทักษะใหม่และการฝึกอบรม โดยพบว่า 51% ของ Gen Z และ 45% ของ Gen Y ชี้ว่า นายจ้างของตนได้ฝึกอบรมพวกเขาอย่างเพียงพอเกี่ยวกับความสามารถ สิทธิประโยชน์ และคุณค่าของ GenAI

Gen Y-Z กำลังผลักดันนายจ้างให้ใส่ใจปัญหาโลกร้อนมากขึ้น

65% ของ Gen Z และ 68% ของคนรุ่น Millennials มองว่า การปกป้องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องใหญ่อันดับต้นๆ ในโลกนี้ อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่มีน้ำหนักอย่างมากสำหรับคนทั้งสองรุ่นนี้ โดย 62% ของ Gen Z และ 59% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล ชี้ว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนที่ผ่านมา พวกเขาตัดสินใจเลือกอาชีพ และหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค(ทั้งอาหารและสินค้า) เพื่อรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและผลักดันธุรกิจใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ประมาณ 54% ของกลุ่ม Gen Z และ 48% ของกลุ่มมิลเลนเนียล บอกว่า พวกเขาและเพื่อนร่วมงานกำลังกดดันนายจ้างให้ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในฐานะผู้บริโภค 64% ของ Gen Z และ 63% ของกลุ่มมิลเลนเนียล ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนปรับตัวเองสู่ความยั่งยืนแล้วหรือกำลังวางแผนที่จะทำมันในอนาคต เช่น หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ลดการเดินทางทางอากาศ (เพราะปล่อยคาร์บอนสูง) หันมากินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารวีแกน หรือซื้อยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น