ตรวจสต๊อกหมู ปศุสัตว์รายงาน 13.41 ล้านกก. จากห้องเย็น 539 แห่ง

ตรวจสต๊อกหมู ปศุสัตว์รายงาน 13.41 ล้านกก. จากห้องเย็น 539 แห่ง

รัฐบาล เข้มตรวจสต๊อกหมู ปศุสัตว์รายงาน 13.41 ล้านกิโลกรัม จากการตรวจห้องเย็น 539 แห่ง ระบุเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่มีสินค้าปศุสัตว์ที่เหลือให้ครบ

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ กรมปศุสัตว์ ติดตามตรวจสอบปริมาณสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มงวด

โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเจ้าหน้าที่พาณิชย์ ซึ่งตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 23 ม.ค. กรมปศุสัตว์รายงานว่า ได้มีการดำเนินการทั้งหมดไปแล้ว 539 แห่ง (ตัวเลขสะสมนับตั้งแต่วันที่ 20-23 ม.ค.) พบเนื้อสุกรรวม 13.41 ล้านกิโลกรัม และทางกรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่มีสินค้าปศุสัตว์ที่เหลือให้ครบ ซึ่งจะมีอีกประมาณห้าร้อยกว่าแห่ง หากตรวจสอบโดยละเอียดพบมีการกักตุน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และเนื้อสุกรจะถูกสั่งให้จำหน่ายตามราคาที่ทางการกำหนดต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

สำหรับข้อมูลการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ณ เดือน ม.ค. 2565 กรมปศุสัตว์รายงาน มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1.07 แสนราย จำนวนสุกร 10.84 ล้านตัว แบ่งเป็น

  • สุกรพ่อพันธุ์ 4.9 หมื่นตัว
  • สุกรแม่พันธ์ุ 9.79 แสนตัว
  • สุกรขุน 9.56 ล้านตัว

และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า จำนวนสุกรทั้งหมดลดลงร้อยละ 11.81 แยกเป็น สุกรพ่อพันธุ์ลดลงร้อยละ 41.1 สุกรแม่พันธ์ุลดลงร้อยละ 11.16 จำนวนสุกรขุนลดลง ร้อยละ 13.9 และในปีนี้ มีการขยายการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ใหม่

ส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงลดลง ฟาร์มขนาดกลางมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นและขยายการเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม ควบคู่ไปกับการป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร

รัฐบาลยังเร่งดำเนินการหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการหลายระยะ กล่าวคือ

  1. งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลาสามเดือน
  2. ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร
  3. สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ เรื่องเตรียมเข้า ครม.
  4. ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน
  5. เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน
  6. ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  7. เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด
  8. ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
  9. ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันเข้าไปตรวจสต๊อกเนื้อสุกร หากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด กรณีที่ตรวจพบว่า มีการรายงานตัวเลขการครอบครองเนื้อสุกรไม่ตรงกับที่แจ้งพาณิชย์จังหวัด จะเข้าข่ายเป็นการกักตุนหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดว่า กรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาฝ่าฝืน 

ส่วนในกรณที่แจ้งแล้วต้องตรวจสอบต่อไปว่าแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หากแจ้งด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ จะมีความผิดอีกเช่นกัน หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากประชาชนพบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิด ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงไปตรวจสอบและดำเนินการได้ทันที