"หมูแพง"ทุบสถิติคนไทยกระเป๋าฉีกจ่ายค่าอาหารเพิ่ม

"หมูแพง"ทุบสถิติคนไทยกระเป๋าฉีกจ่ายค่าอาหารเพิ่ม

"หมู"เริ่มไม่หมูเมื่อราคาหมูมีราคาแพงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นภาระหนักของคนไทยเพราะหมูเป็นโปรตีนสำคัญและเป็นต้นทุนหลักของอาหารสำเร็จรูปหลายรายการ

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงราคาขายปลีก สินค้าอาหารสดในกรุงเทพมหานคร โดยพบว่าราคาสุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ณ 30 ธ.ค. มีราคาที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงธ.ค.ที่ผ่านมา และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปี2563 ก็พบว่ามีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น มากกว่ากิโลกรัม(กก.)ละ 20-30บาทซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพประชาชนในที่สุด 

ราคาสุกรชำแหละเนื้อแดง(สะโพก) ณ 30 ธ.ค.2564 อยู่ที่ กก.ละ 170-175 บาท เพิ่มสูงขึ้นจาก 27 ธ.ค. 2564 ที่กก.ละ 150-155บาท โดยมีราคาเฉลี่ยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปีที่ 167.50 บาท

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคาหมูในปี 2564 และมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อในปี 2565 กับช่วงปี 2563ที่ผ่านมาจะพบว่า เดือนธ.ค. 2563 เนื้อหมูมีราคาอยู่ที่ กก.ละ 134 บาท 

ราคาเนื้อหมูเดือนธ.ค.ปี2564 ถือว่ามีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ กก.ละ 175 บาท ซึ่งเป็นราคาที่กรมการค้าภายในรายงานไว้ แต่หากสำรวจราคาในท้องตลาดทั่วไป จะพบว่าราคาเฉลี่ยเพิ่มไปที่ กก.ละ200 บาทแล้ว”

สถานการณ์ราคาเนื้อหมูในขณะนี้กำลังจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเนื่องจาก หมูเป็นสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ซึ่งมีน้ำหนักในการใช้จ่ายของประชาชนสูงถึง 9.04% ตามการคำนวนของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ เมื่อเนื้อหมูมีราคาเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักค่าใช้จ่ายเงินในกระเป๋าประชาชนให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

สาเหตุหมูราคาแพง 

สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า  ราคาหมูและเนื้อหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าบริหารจัดการป้องกันโรคในสุกร และภาวะโรคสุกร ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรหายไปจากระบบ ส่งผลให้ปริมาณสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุนลดลง

ขณะที่การท่องเที่ยว ภาคบริการ ร้านอาหารกลับมาเปิดตามปกติ และการจับจ่ายกลับมาคึกคักในช่วงปลายปี ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มมากขึ้น การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน จะทำให้ราคาสุกรปรับเข้าสู่สมดุลได้เอง ถือเป็นการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และอาชีพของเกษตรกรที่เข้าถึงหัวใจของปัญหาอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงหมูได้บ้าง จึงขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

หมูแพงลามจานด่วนขึ้นราคา

สถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดไม่เพียงสร้างผลกระทบการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่“หมู”เป็นต้นทุนอาหารสำเร็จรูปหลายรายการเป็นโปรตีนหลักของคนไทย ซึ่งอาหารสำเร็จรูปอยู่ในการคำนวนเงินเฟ้อในการบริโภคนอกบ้านสัดส่วน 6.64% ดังนั้นหากราคาอาหารสำเร็จรูปต้องปรับขึ้นราคาอาจเป็นอีกภาระที่คนไทยต้องแบกรับและเเทบไม่มีทางออก 

ราคาอาหารจานด่วนหรืออาหารตามสั่ง อาหารสำเร็จรูป แกงถุง สุดแล้วแต่จะเรียกขามแต่นี่คือเครื่องยังชีพอย่างหนึ่งของคนไทยโดยเฉพาะคนเมือง เมื่อราคาสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นหมายถึงเงินในกระเป๋าที่จะหายไปและแทบไม่เหลือเก็บออม ขณะเดียวกันแม้ร้านค้าเลือกที่จะไม่ขึ้นราคาอาหารแต่คำถามที่ตามมาเมื่อซื้ออาหารจานด่วนมารับประทานคือคุณภาพของโปรตีนเนื้อสัตว์ในจานนั้น”

 

หันบริโภคโปรตีนอื่นแทน 

โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ได้มีแต่เพียงเนื้อหมู แต่ยังมีเนื้อสัตว์อื่นที่มีราคาพอจะทดแทนกันได้ แต่ก็พบว่ามีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างสูงมากเช่นกัน โดยไก่สดชำแหละ น่อง สะโพก กก.ละ 65-70 บาท(ณ 30 ธ.ค.2564) สูงขึ้นจากธ.ค.2563 ซึ่งอยู่ที่กก.ละ 59.50 บาท ไก่สดทั้งตัว (รวมเครื่องใน)ตัวละ 60-65 บาทเพิ่มขึ้นจาก 63 บาท 

ด้านราคาไข่ไก่(เบอร์3) พบว่า ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นเช่นกัน ที่ ฟองละ 3.30-3.40 บาท สูงขึ้นจาก 3.14 บาท ราคาไข่เป็ด(ขนาดกลาง) ฟองละ 4.80-4.90 บาทสูงขึ้นจาก 4.35 บาท 

 

กินผัก-ผลไม้เพื่อสุขภาพ 

ช่วงธ.ค. ปี 2564 พบว่า ราคาผักสดหลายรายการอ่อนตัวลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ยกเว้นผักกวางตุ้นและพริกขี้หนู(จินดา)ที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงในขณะที่ความต้องการบริโภคช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้น 

  • โดยผักคะน้า กก.ละ 15-20 บาท (30 ธ.ค.2564) เฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง จากธ.ค. 2563 กก.ละ 19.77บาท
  • ผักบุ้งจีน กก.ละ 20-25 บาท เพิ่มขึ้นจาก18.23 บาท
  •  กะหล่ำปลีก กก.ละ 20-25 บาท ลดลงจาก 23.98 บาท
  • ผักชี กก.ละ 40-45บาทลดลงจาก 74.50 บาท 

ขณะที่ผลไม้ พบว่ามีราคาอ่อนตัวลง โดย

  • ส้มเขียวหวาน (เบอร์5) กก.ละ 35-40 ลดลงจาก กก.ละ 55.50 บาท 
  • กล้วยหอมใหญ่ (14-45ผล) หวีละ 80-100 บาท ลดลงจากหวีละ 110 บาท

 

รัฐตื่นใช้กลไกดูแลราคาหมู

สำหรับกลไกภาครัฐที่จะสามารถช่วยดูแลราคาหมูได้นั้น ล่าสุด ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ว่าความเดือดร้อนของผู้บริโภค จาก ปัญหาราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น จากต้นทุนประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ ยารักษาโรค และโรคระบาดหมู ส่งผลให้หมูในระบบมีปริมาณลดลง ราคาหมูขายปลีกหน้าเขียงมีราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันการที่ภาคบริการ การท่องเที่ยว ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการได้มากขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคหมูโดยรวม กลับมาเพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดูแลแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง พร้อมมอบหมายคณะกรรมการพิกบอร์ด (Pig Board) เร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรตั้งแต่ต้นทุนการผลิตสุกร สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหมู เพื่อลดอัตราการสูญเสียหมูเลี้ยง จากโรคระบาด รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้เลี้ยงหมูกลับมาเพิ่มปริมาณสุกรกลับเข้ามาสู่ระบบโดยเร็ว