พาณิชย์ฯ พบปม 3 เดือน เนื้อหมูนำเข้า 85 ครั้ง 21 ค้างสต๊อก 2 แสนกก.

พาณิชย์ฯ พบปม 3 เดือน เนื้อหมูนำเข้า 85 ครั้ง 21 ค้างสต๊อก 2 แสนกก.

เผยผลสอบอายัดเนื้อหมู 200,000 กิโลกรัม พบปมห้องเย็น-บริษัทผู้เช่าแจ้งข้อมูลไม่ตรงกัน ด้านพาณิชย์ฯจับมือปศุสัตว์เร่งสอบข้อมูลย้อนหลังพบตัวเลข 3 เดือนผิดปกติ นำสินค้าเข้า 85 ครั้ง ขณะที่สินค้าออกแค่ 21 ครั้ง

ความคืบหน้าการตรวจสอบเนื้อหมู กว่า 200,000 กิโลกรัม ภายในห้องเย็นบริษัท ปิติซีฟู๊ด จำกัด เลขที่ 125/1 หมู่ 5 ถนนสงขลา-ปัตตานี ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับการยืนยันว่า บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม พัทลุง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่ได้ทำการเช่าห้องเย็นดังกล่าว

20ม.ค.64 ล่าสุดคณะทำงานตรวจสอบกรณีดังกล่าว นำโดยนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นางสาวฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา ,พล.ต.ต. อาชาน จันทร์ศิริ ผบก.ภ.จว.สงขลา, ปศุสัตว์สงขลาและหัวหน้าด่านกักกันสัตว์สงขลาแถลงความคืบหน้าภายหลังเข้าตรวจสอบและประชุมร่วมกับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยระบุว่า บริษัทปิติซีฟู๊ด จำกัด ที่เป็นผู้ดำเนินการให้เช่าและบริษัทเบทาโกรฯที่เข้ามาเช่าห้องเย็นแจ้งข้อมูลตัวเลขไม่ตรงกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียกสอบข้อมูลย้อนหลังเพื่อสอบข้อเท็จจริงว่ามีเจตนาในการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อหมูจริงหรือไม่

นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏว่า ผู้ให้เช่าห้องเย็นไม่ได้แจ้งข้อมูลรายงานการครอบครองจากบริษัทที่มาขอเช่าคือบริษัทเบทาโกรฯ ทำให้เมื่อมีการตรวจสอบจึงพบข้อมูลที่แจ้งนั้นไม่ตรงกันซึ่งจะต้องตรวจสอบถึงเจตนาของการไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าว

สอดคล้องข้อมูลของพาณิชจังหวัดและปศุสัตว์สงขลา ที่ระบุว่า มีตัวเลขการแจ้งการครอบครองที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะข้อมูลในช่วง3เดือนก่อนหน้านี้ที่พบว่ามีสินค้าเข้า-ออกสูงเกินจริงหรือไม่ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงเดือนมกราคม พบว่ามีการนำสินค้าเข้าห้องเย็นทั้งหมด 85 ครั้งคิดเป็น 574,541 กิโลกรัม

ขณะที่ตัวเลขของการนำสินค้าออกมีเพียง 21 ครั้ง คิดเป็นน้ำหนัก 167,058 กิโลกรัม ขณะที่ล่าสุดที่จนท.เข้าตรวจสอบพบว่ามีสินค้าคงค้างอยู่ในสต๊อก201,650 กิโลกรัม ส่งผลทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยเนื่องจากมีจำนวนที่หายไปถึง 205,803 13 กิโลกรัม

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ระบุว่าในการตรวจสอบครั้งนี้แยกออกเป็น 3ประเด็น คือ

1.สอบการแจ้งการครอบครองที่ไม่ตรง

2.สอบการแจ้งปริมาณสินค้า

3. สอบสวนมีการกักตุนสินค้าจริงหรือไม่

ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นที่ไม่ตรงกันมีอยู่ 2เรื่องคือการแจ้งครอบครองและปริมาณสินค้าไม่ตรงกัน โดยเรื่องนี้ได้มีการประสานให้ผู้จัดทำบัญชีบริษัทที่เข้ามาเช้าให้เร่งนำเอกสารมาชี้แจงก่อนที่จะมีการแจ้งดำเนินการตามข้อกฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำการผิดกฎหมายจริง