'ปิยบุตร' สั่งลุย! ยุ 'ก้าวไกล' ย้อนเกล็ดยื่นแก้ รธน.ล้มอำนาจศาล รธน.

'ปิยบุตร' สั่งลุย! ยุ 'ก้าวไกล' ย้อนเกล็ดยื่นแก้ รธน.ล้มอำนาจศาล รธน.

'ปิยบุตร' สั่งลุย! ยุ 'ก้าวไกล' ย้อนเกล็ดยื่นแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อล้มอำนาจศาล รธน. ลั่นถ้าไม่ทำอะไรเลยจะทำให้การเมืองไทยวนลูป ชี้ช่องเสนอแก้ ม.112 ยิบย่อยได้ ทั้งลดโทษจำคุก ยกเลิกโทษขั้นต่ำ

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นทางวิชาการ กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง จากนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

นายปิยบุตร ระบุว่า มีข้อเสนอทางกฎหมายที่พอเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้ รัฐธรรมนูญ คือ ระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจขององค์กรต่างๆในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ ประมุขของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญ ศาล การต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจล้ำแดนองค์กรอื่น ๆ ต้องให้องค์กรที่ถูกล้ำแดนใช้อำนาจโต้กลับไป เช่น ใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไข พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.บ. ต่างๆ 

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง ยังพอหลงเหลืออำนาจทำอะไรได้บ้างในเวลานี้ 

1. แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รวมถึงการใช้อำนาจของรัฐสภาและการเสนอร่างกฎหมาย 

2. แก้รัฐธรรมนูญ กำหนด ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง สกัดขัดขวาง กระบวนการนิติบัญญัติ เว้นแต่กรณีการตรวจสอบว่าร่าง พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายหลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบและยังไม่ทูลเกล้าฯ

3. แก้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบและจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

4. แก้ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 

5. แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนองค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

6. แก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้องค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน

หากอ่านจากคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า ศาลสั่ง ดังนี้

1.สั่งการให้พรรคก้าวไกลและพิธา เลิกแสดงความเห็น เพื่อให้มีการยกเลิก 112

2.ไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำนี้น่าจะอนุมานจากคำวินิจฉัยนี้ได้ว่า ห้ามแก้ใน 3 ประเด็นที่ศาลบอกว่าเป็นการล้มล้างฯ ได้แก่ ห้ามย้ายหมวด, ห้ามกำหนดเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ, ห้ามกำหนดให้ยอมความได้ และห้ามกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ 

ดังนั้น ศาลไม่ได้มีคำบังคับสั่งห้ามแก้ 112 โดยเด็ดขาด ยังคงเสนอแก้ 112 ในประเด็นอื่นได้ เช่น 

  • ลดโทษจำคุก 
  • ยกเลิกโทษขั้นต่ำ จำคุก 3 ปี 
  • แยกฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ออกจากกัน 
  • กำหนดให้นายกรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการพิเศษ ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษคดี 112 เป็นต้น

"แน่นอน อาจกล่าวกันว่าไม่มีทางสำเร็จ จะไปหาเสียงข้างมากจากไหน จะผ่านด่าน สว หรือไม่ และสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขวางอีก แต่อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ที่ฝากเอาให้ผู้แทนราษฎรใช้แทน ก็มีพลังและสามารถแสดงบทบาทตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญได้ การนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญเลย ก็จะทำให้การเมืองไทยวนลูป และปล่อยให้พวกเขา “ขีดวง” อำนาจของประชาชนและผู้แทนราษฎรให้น้อยลงหดแคบไปเรื่อยๆ" นายปิยบุตร ระบุ