พิษคดี ‘ม.112’ ทางลงลดเพดาน จับตา"ก้าวไกล"ถอยในรุก วัดกระแสด้อมส้ม

พิษคดี ‘ม.112’ ทางลงลดเพดาน จับตา"ก้าวไกล"ถอยในรุก วัดกระแสด้อมส้ม

พิษคดี ‘ม.112’ ทางลงลดเพดาน จับตา"ก้าวไกล"ถอยในรุก วัดกระแสด้อมส้ม เลือกตั้ง 66 ชี้วัด คะแนน ‘อนุรักษนิยม’เทหนุน

Key Points: 

  • พิษ ม. 112 ทำให้ "ก้าวไกล" ต้องกลับไปทบทวนยุทธศาสตร์ เนื่องจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ สั่งห้ามนำ ม. 112 มาใช้เป็นนโยบายพรรคการเมือง
  • "แกนนำส้ม" บางสาย เชื่อว่าการลดเพดานโดยอาศัยคำสั่งศาล จะฉากถอยที่ทำให้ "ก้าวไกล" ไม่เสียฐานเสียง
  • ขณะเดียวกันยังได้แต้มการเมืองเพิ่มเติมจาก "อนุรักษ์นิยม" ที่ชอบนโยบายอื่น แต่ยังติดหล่มกับ ม. 112 ทำให้ลังเลที่จะเลือก "ก้าวไกล"

ในที่สุดคดีล้มล้างการปกครอง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรคก้าวไกล อันเป็นผลมาจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 และใช้เป็นแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายหาเสียงการเลือกตั้งปี 2566

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบ ชี้ว่าการดำเนินการ “พิธา-ก้าวไกล” เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ หรือล้มล้างการปกครอง

พร้อมสั่งการให้ผู้ถูกร้อง เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกม. 112 และไม่ให้มีการแก้ไขม. 112 ด้วยวิธีการ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคต

แม้ในยกแรกยังไม่ถึงขั้นยุบพรรค เนื่องจาก “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ในฐานะผู้ร้องคดีดังกล่าวได้ร้องขอยุติการกระทำเท่านั้น ทำให้ “แกนนำก้าวไกล” พอมีเวลาหายใจและหาช่องทางต่อสู้คดีในฉากต่อไป เมื่อมีคนรอฉวยเอาคำวินิจฉัยทางลบไปยื่นคำร้องให้ยุบพรรค รวมถึงอาจจะเป็นไฟต์บังคัลให้ กกต. ต้องดำเนินการโดยอัตโนมัติ

 

 

โรดแมป "พิธา-ก้าวไกล" ไร้แก้ ม.112

แต่ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. “พิธา” แถลงแผนงานพรรคก้าวไกลในปี 2567 หรือ MFP’s Strategic Roadmap ว่า มี Big Bangs หรือเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือ การเสนอแก้ไขกฎหมายและร่างกฎหมายเพิ่มเติมรวม 47 ฉบับ ซึ่งไม่มีร่างแก้ไข ม.112

ที่สำคัญ “พิธา” ตอบคำถามนักข่าวเรื่องแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่า ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้มีร่างแก้ไข ม.112 รวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ. 47 ฉบับ

อีกด้านหนึ่ง “ก้าวไกล” ปล่อยคลิปวิดีโอ ย้ำจุดยืนระบุว่า แก้ไขไม่เท่ากับล้มล้าง ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความระบุว่า “ปฏิรูป ต้องไม่เท่ากับล้มล้าง แก้ไข ม. 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบัน แต่คือหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา”

ก่อนหน้านี้ มีแนวทางวิเคราะห์จากสื่อหลายสำนักประเมินว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดการกระทำ ย่อมเป็นทางลงของพรรคก้าวไกลได้ “แกนนำสีส้มกลุ่มหนึ่ง” คงอยากลดเพดานเรื่อง ม. 112 อยู่แล้ว

"ปิยบุตร"ค้านถอย ม.112

อย่างไรก็ตามพลันที่พิธา แถลงแผนงานพรรคจบลง "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า “...ผมไม่เห็นด้วยกับการแถลงการณ์แผนการพรรคก้าวไกลในปี 2567 ผมเข้าใจดีว่า ทีมงานของพรรคต้องการจัดแถลงการณ์นี้ขึ้นมา เพื่อต้อนรับการกลับมาของพิธา แต่เมื่อผมเห็นเนื้อหาทั้งหมดแล้ว ผมเห็นว่า… ผิดพลาด โดยเฉพาะแผนเสนอร่าง พ.ร.บ. 47 ฉบับ โดยไม่มีร่างแก้ไข 112”

“ด้อมส้ม” อาจรู้สึกรำคาญกับท่าทีของ “ปิยบุตร” ที่โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์พิธาและพรรคก้าวไกล โดยใช้คำว่า “หมอบ” ก่อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

จริงๆแล้ว “ปิยบุตร” มีปมในใจเรื่อง ม.112 สมัยที่ร่วมกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยเขาถือว่า เป็นตราบาปฝังในจิตใจคือ ไม่ผลักดันเรื่องแก้ไข ม.112

“ผมยอมกลืนเลือด ตัดสินใจขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกของผมอย่างสิ้นเชิงมาแล้ว ด้วยการประกาศว่า ไม่มีนโยบายแก้ 112 ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดอุปสรรคขัดขวาง ให้พรรคก่อตั้งได้ ให้พรรคได้ไปต่อ..”

ดังนั้น “ปิยบุตร” จึงทนไม่ได้ เมื่อได้ฟัง “พิธา” แถลงโรดแมป “ก้าวไกล” โดยไม่มีแผนการเสนอร่างแก้ไข ม.112 แนวคิดของ “แกนนำก้าวไกล” กับ “ปิยบุตร” จึงเหมือนเส้นขนาน

ถอยในรุกฐานเสียง "อนุรักษ์นิยม" เลือก

“แกนนำก้าวไกล” มองคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แม้ผลจะออกมาเป็นลบ แต่ในเชิงการต่อสู้ระยะยาวอาจจะเป็นมุมบวก เนื่องจาก “พลพรรคสีส้ม” ติดกับดัก ม. 112 มานาน

เมื่อมีคำวินิจฉัยห้ามใช้ ม. 112 หาเสียงหรือจัดทำนโยบาย จึงอาจเป็นทางลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ฐานเสียงเดิมไม่เสียไป ฐานเสียงใหม่มีเข้ามาเพิ่มเติม

เนื่องจากการเลือกตั้ง พ.ค. 2566 เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า “อนุรักษนิยม” ที่เคยเป็นฐานเสียงหลักให้กับพรรคคู่แข่ง ต่างเทคะแนนมาเลือก “ก้าวไกล” โดยเฉพาะพื้นที่โซนเมืองและกทม.

ขณะเดียวกันยังมีแต้มการเมืองจากกลุ่มแอบปันใจให้ “ก้าวไกล” แต่ไม่เลือกลงคะแนนให้ เพราะยังติดอยู่ที่นโยบายแก้ไข ม. 112 ฉะนั้นหากไม่มีเงื่อนปมดังกล่าว ย่อมเปิดโอกาสให้กลุ่มอนุรักษนิยมที่อยากได้คนรุ่นใหม่ และแอบให้กำลังใจลงคะแนนให้

ที่สำคัญฐานเสียงเดิมของ “ก้าวไกล” แม้จะไม่มีแก้ไข ม. 112 อย่างไรเสียก็ต้องเลือกลงคะแนนให้ก้าวไกล เพราะหลังจากนี้คงไม่มีพรรคการเมืองใด ออกมาเสนอนโยบายดังกล่าวอีกต่อไป

“ก้าวไกล” ชั่วโมงนี้มีแบรนด์การเมืองค่อนข้างแข็งแกร่ง “แฟนคลับ” หลายภาคส่วน ไม่ได้ผูกมัดกับปม ม. 112 แต่ชอบที่กล้าชน กล้าสู้ กับขั้วอำนาจทางการเมือง ขั้วอำนาจกลุ่มทุนผูกขาด

จึงไม่แปลกที่ “แกนนำพรรคสีส้ม” อาจสมหวังลึกๆ กับคำวินิจฉัยปม ม.112 ลดเพดานการต่อสู้ เพื่อยืนยันว่าการถอยไม่ใช่หมอบ แต่เป็นการถอยเพื่อรุกคืบยิ่งกว่าเดิม