มติ 'ก้าวไกล' ไม่ร่วม กก.แก้ รธน.ของรัฐบาล เหตุไม่ยันหลักการ-สสร.เลือกตั้ง

มติ 'ก้าวไกล' ไม่ร่วม กก.แก้ รธน.ของรัฐบาล เหตุไม่ยันหลักการ-สสร.เลือกตั้ง

มติที่ประชุม สส.ก้าวไกล ยังไม่ร่วมนั่ง กก.ศึกษาประชามติแก้ รธน. เหตุรัฐบาลยังไม่ยืนยันหลักการ ร่างใหม่ทั้งฉบับ-เลือกตั้ง สสร. ทางตรงทั้งหมดหรือไม่ แย้มยินดีให้ความเห็น-ข้อเสนอหากรัฐบาลต้องการ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ประชุม สส.ก้าวไกล มีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการในคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเชิญตัวแทนของทุกพรรคการเมือง (รวมถึงพรรคก้าวไกล) มาร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่มีรวมกันทั้งหมด 35 รายชื่อ ที่ประชุม สส. ของพรรคก้าวไกลมีมติดังต่อไปนี้

1. พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด ในการสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ เพื่อให้ประเทศมีกติกาสูงสุดของประเทศที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

2. พรรคก้าวไกลเสนอว่ากระบวนการดังกล่าวควรเริ่มต้นจากการจัดประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนด้วยคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่ รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”

3. พรรคก้าวไกลขอบคุณทางรัฐบาลที่ให้เกียรติตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมการ ทางพรรคพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวโดยพรรคยินดีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอของพรรรค ต่อคณะกรรมการหากคณะกรรมการมีความประสงค์ แต่ ณ เวลานี้ พรรคก้าวไกลขอสงวนสิทธิในการไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ

4. เหตุผลที่พรรคมีมติดังกล่าว เพราะพรรคยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลเกี่ยวกับเป้าหมายหรือกรอบในภาพใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการชุดนี้จะยึดถือ โดยเฉพาะจุดยืนในการสนับสนุน:

  • การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ
  • การจัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด

5. สองจุดยืนดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่พรรคก้าวไกลมองว่ามีความสำคัญต่อการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่าย และสะท้อนฉันทามติใหม่ของสังคมที่โอบรับทุกความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

6. หากในอนาคต ทางรัฐบาลยืนยัน หรือทางคณะกรรมการศึกษาฯ ได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่าจะเดินหน้าภายใต้ 2 จุดยืนดังกล่าว พรรคก้าวไกลจะยินดีให้ตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการ เพื่อทำงานร่วมกันในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำประชามติ (เช่น จำนวนครั้ง กรอบเวลา คำถาม) และแนวทางด้านอื่นๆ (เช่น จำนวน สสร. กรอบเวลาทำงานของ สสร.)

7. พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยพรรคก้าวไกลหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลและคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปโดยเร็วในการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนทั้งหมด