'ชัชชาติ' นั่งหัวโต๊ะตามสถานการณ์ฝนใน กทม. กำชับปราบโกง คนทุจริตไม่เอาไว้

'ชัชชาติ' นั่งหัวโต๊ะตามสถานการณ์ฝนใน กทม. กำชับปราบโกง คนทุจริตไม่เอาไว้

'ผู้ว่าฯ กทม.' นั่งหัวโต๊ะ ติดตามสถานการณ์ฝนตกใน กทม. กำชับพร้อมช่วยเหลือประชาชน ลั่นเอาจริงเรื่องความโปร่งใส คนทุจริตไม่เอาไว้

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 21/2566 โดยที่ประชุมได้มีการรายงานถึงสถานการณ์ฝนและการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งระยะนี้ประเทศไทยจะยังคงมีฝนหนาแน่น ส่วนในช่วงครึ่งเดือนหลัง (ตุลาคม) จะมีมวลอากาศเย็นเพิ่มขึ้น และฝนเบาบางลง สำหรับปริมาณฝนสะสมที่สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ปี 2566 (1 ม.ค. - 1 ต.ค. 66) อยู่ที่ 1,284.5 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็น 5.4% โดยค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี สนน. อยู่ที่ 1,357.8 มม.

การเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานคร โดย สนน. มีดังนี้

1. จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำตลอด 24 ชั่วโมง

2. ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เปิดทางน้ำไหล

3. ตรวจสอบ เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ

4. สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว

5. ลดระดับน้ำในคู คลอง ให้อยู่ในระดับต่ำ

6. จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำกรณีฉุกเฉิน

7. ประสานงานหน่วยงาน โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

8. ประสานงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และมีการมอบหมายหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานหลักของแต่ละหน่วยงาน 

สำนักการระบายน้ำ มีหน้าที่แจ้งจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยง ลดระดับน้ำในคลองตามแผน เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ รายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ และสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแก่สำนักงานเขต  ส่วนสำนักงานเขต มีหน้าที่ออกปฏิบัติงานเมื่อฝนตก ผู้อำนวยการเขตสั่งการแก้ไขปัญหา รายงานสถานการณ์ ติดตามสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งตรวจสอบแผนและกำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง มีหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือประชาชนกรณีรถยนต์ขัดข้อง จัดรถยก รถลากจูง อำนวยความสะดวกในการจราจร  สำนักการโยธา มีหน้าที่จัดหน่วยซ่อมแซมเร่งด่วน (Best Service) สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ ตรวจสอบและเฝ้าระวังสาธารณูปโภค รถไฟฟ้า อาคารสูง หรือป้ายโฆษณา 

สำนักเทศกิจ มีหน้าที่จัดรถสายตรวจลงพื้นที่ จัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน  สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ และจัดหน่วยซับน้ำสนับสนุนสำนักงานเขต

สำนักการจราจรและขนส่ง มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสถานการณ์น้ำบนป้ายจราจรอัจฉริยะ สนับสนุนข้อมูลจากกล้อง CCTV ตรวจสอบความพร้อมของระบบวิทยุ Trunk Radio  สำนักงานประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร แจ้งประเด็นผลกระทบของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณการจัดหากระสอบทราย และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม  สำนักอนามัย มีหน้าที่แนะนำด้านสุขภาพอนามัยและวิธีป้องกันโรค รวมทั้งสนับสนุนยารักษาโรค  และสำนักสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รณรงค์เรื่องการทิ้งขยะอย่างถูกต้อง ตลอดจนดูแลต้นไม้ไม่ให้หักโค่น

กรุงเทพมหานครมีการจัดตั้งจุดรวมพลเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในจุดเสี่ยงน้ำท่วม 6 จุด เพื่อให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย

ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ได้มีการจัดทำแผนการเรียงกระสอบทราย ความยาว 4,748 เมตร (เรียงแนว 1,151 ม. เสริมแนว 1,105 ม. แนวรั่วซึม 2,008 ม. ช่องลงเรือ 484 ม.) ใช้กระสอบทราย 276,300 ใบ โดยความคืบหน้าปัจจุบัน เรียงกระสอบทรายแล้ว 3,668 เมตร ใช้กระสอบทราย 219,170 ใบ คิดเป็น 80%

ในการนี้ นายชัชชาติ ได้กำชับในเรื่องการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมชื่นชม ให้กำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่ทำให้การระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องที่จะต้องเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่องจะเป็นเรื่องของความโปร่งใสในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยืนยันว่า เราต้องดูแลประชาชน ไม่ให้มีการเอาเปรียบประชาชน หากมีหลักฐานการทุจริตจะไม่เอาไว้