'ก้าวไกล' ติง 5 ประเด็นเงินดิจิทัล แก้เศรษฐกิจไม่ตรงจุด เสี่ยงภาระการคลัง

'ก้าวไกล' ติง 5 ประเด็นเงินดิจิทัล แก้เศรษฐกิจไม่ตรงจุด เสี่ยงภาระการคลัง

‘ชัยวัฒน์ ก้าวไกล’ ติง 5 ประเด็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ถูกจุด เสี่ยงเป็นภาระการคลัง สร้างหนี้คนรุ่นหลังต้องชดใช้ แนะนายกฯ ทบทวน-ชี้แจงข้อสงสัยให้ประชาชนกระจ่าง ก่อนเดินหน้านโยบาย

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยวิเคราะห์ถึงความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ด้วยการแจกเงิน และความเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลคาดการณ์ แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 5 ประเด็น

ประเด็นแรก สภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไปถึงครึ่งปีหน้า ไม่เหมาะสมที่จะต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายการแจกเงิน ตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานต่างๆ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่กำลังฟื้นตัว การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น อัตราการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงโควิด 

แต่ปัญหาที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น มาจากภาคการส่งออก ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตลงจากปีก่อน โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกไทย จนตอนนี้การส่งออกของไทยหดตัวกว่า 10 เดือนติดต่อกันแล้ว สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจึงไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ที่จะใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากการใช้มาตรการทางการคลัง ก็เหมือนกับที่ท่านนายกฯ ได้บอกว่าเป็นการช็อกกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้น การช็อกแบบนี้ควรต้องทำให้ถูกจังหวะ นโยบายแจกเงินถ้วนหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรทำเมื่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ไม่ใช่มาทำตอนที่การบริโภคกำลังขยายตัว 

"ท่านนายกฯ ควรคิดทบทวนว่า จะทำนโยบายแก้ปัญหาการส่งออกหดตัวต่อเนื่องอย่างไร จะตรงจุดกว่า รวมถึงทบทวนว่าจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าในการแก้ปัญหาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ SME มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การเริ่มธุรกิจใหม่ทำได้ง่าย และขยายตัวได้เร็ว แทนที่จะใช้งบประมาณเพื่อเอาเงินมาแจก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ไม่ถูกเวลา" นายชัยวัฒน์ กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การที่ท่านคาดหวังว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เกิดผลเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นอย่างมหาศาล อาจเป็นการคาดการณ์ที่สูงเกินไป โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินถ้วนหน้า มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เป็นการผันเงินจากรัฐบาลสู่กระเป๋าประชาชน โดยคาดหวังให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่าย และหวังให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนสร้างผลกระทบให้เกิดการใช้จ่ายเปลี่ยนมือ หมุนเวียนไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเม็ดเงินหมุนเวียนมาก มูลค่าการผลิต และรายได้ก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์จะใช้สิ่งที่เรียกว่า ตัวคูณการคลัง (Fiscal Multiplier) เป็นตัวชี้วัดที่บอกว่าถ้ารัฐบาลอัดฉีดเงินออกไป 1 บาท เศรษฐกิจหรือ GDP จะขยายขึ้นเท่าไร เช่น ถ้าบอกว่ารัฐบาลให้เงินผมมา 1 บาท และผมจ่ายเงิน 1 บาทนี้นั่งวินมอเตอร์ไซค์มาที่สภาฯ วินมอเตอร์ไซค์ รับเงินไปก็เอา 1 บาทนี้ไปเติมน้ำมัน และปั๊มน้ำมันก็เอาเงิน 1 บาทนี้ ไปจ่ายซื้อน้ำมัน หมายความว่า GDP จะขยายขึ้นจาก 1 บาทแรกที่รัฐบาลอัดฉีดมา กลายเป็น 3 บาท 

แต่ในความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้ายังไงผมก็ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ผมก็แค่จ่ายด้วยเงินที่รัฐบาลอัดฉีดมา แล้วก็เก็บเงินเก่าในกระเป๋าเอาไว้ ผมไม่ได้ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นจาก 1 รอบเป็น 3 รอบ การใช้จ่ายก็ไม่ได้ขยายตัว แถมยังมีการรั่วไหลในทุกขั้นตอนการเปลี่ยนมือ เช่น ถ้าต้องนำเข้าน้ำมัน เงินก็รั่วออกไปต่างประเทศ หรือที่โดนเก็บภาษีน้ำมัน เงินก็รั่วไปเข้ากองทุนน้ำมัน 

จุดสำคัญอยู่ตรงนี้คือ ไม่มีใครรู้เป๊ะๆ ว่าเจ้า ‘ตัวคูณการคลัง’ นี่เป็นเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีก็คือ ตัวคูณการคลังจะน้อยในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัวเช่นตอนนี้ พูดง่ายๆ ว่าถ้าตัวคูณการคลังต่ำกว่า 1 เท่า แปลว่าการอัดฉีดเงินเข้าไป ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากไปกว่าเงินที่ใช้ไป ได้ไม่คุ้มเสีย จากการศึกษาของ IMF บ่งชี้ว่าการแจกเงินถ้วนหน้ามีตัวคูณการคลังต่ำเพียง 0.2 ต่ำกว่าการอุปโภคภาครัฐ 0.4 และการลงทุนของภาครัฐ 0.7 

ตัวคูณการคลังของนโยบายแจกเงินส่วนใหญ่นั้น อยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 0.5 เท่าเสียด้วยซ้ำ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเคยกล่าวว่า คาดหวังผลตัวคูณที่ 3 รอบ มีบางเอกสารว่าสูงถึง 6 รอบ เป็นการประเมินตัวเลขที่ห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงไปมาก ถ้าดูจากสถิติบนโลกแห่งความจริง การหมุนเวียนของการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ อาจไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจหลายรอบตามที่กล่าวอ้าง แต่อาจทิ้งซากปรักหักพังไว้เป็นภาระการคลังของประเทศ เป็นหนี้เป็นสินให้ลูกหลานต้องมาชดใช้ เสียโอกาสในการนำงบประมาณไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนในด้านอื่นๆ 

ประเด็นที่ 3 หากนายกฯ ยังยืนยันว่าจะทำนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้ ก็ยังมีปัญหาอีกมากอยู่ดี โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กำหนดให้ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

ปัญหา (1) มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้พักอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเขตภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน ดูได้จากสถิติผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมากกว่า 2.35 ล้านคน 
แต่ถ้าบอกว่าเพื่อกระจายเงินไปยังทุกพื้นที่

ปัญหา (2) ก็ต้องคิดก่อนว่ารัศมี 4 กิโลเมตร ในต่างจังหวัด จะมีร้านค้าที่พอรับเงินดิจิทัลได้กี่ร้าน ในพื้นที่ห่างไกลนอกตัวเมือง แค่ร้านค้าธรรมดายังแทบหาไม่ได้ และแทนที่ประชาชนจะได้ใช้เงินซื้อของที่ตัวเองต้องการ กลับถูกบีบบังคับด้วยเงื่อนไขระยะทาง ทำให้ต้องซื้อของที่อาจไม่อยากได้ และท้ายที่สุด ปลายทางของเงินดิจิทัลอาจจบที่ร้านสะดวกซื้อหรือห้างค้าส่ง ที่เป็นของธุรกิจขนาดใหญ่

แม้เคยมีการชี้แจงจากพรรคเพื่อไทยว่าปรับเปลี่ยนได้ แล้วแต่สภาพพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยมีคำชี้แจงเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าในพื้นที่ห่างไกลมีเงื่อนไขอย่างไร ไม่เคยมีคำอธิบายที่มาที่ไปที่สมเหตุสมผล

ปัญหา (3) การกำหนดเงื่อนไขให้ร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้นที่สามารถ cash out แลกเงินในดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ออกมาเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารได้ ทำให้ร้านค้ารายเล็กที่รับเงินดิจิทัลมาแล้วไม่สามารถขึ้นเงินได้ ต้องไปซื้อของกับร้านค้าอื่น ซึ่งก็จะถูกบีบด้วยเงื่อนไขในระยะทาง 4 กิโลเมตร นี้อีกเช่นกัน แล้วร้านค้าจะไปหาสินค้าอะไรมาขาย ก็ต้องหาในระยะ 4 กิโลเมตร เท่านั้นหรือ 

เงื่อนไขแบบนี้อาจทำให้ร้านค้าไม่อยากเข้าร่วมโครงการรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี้เลยก็เป็นได้  หรืออาจจะรับในราคาที่แพงพิเศษ เช่น ข้าวของราคา 5 บาท แต่ถ้าเป็นจะจ่ายเป็นเงินดิจิทัลอาจจะคิด 10 บาท บวกต้นทุนค่าสภาพคล่อง และความลำบากยุ่งยากเข้าไป หรืออาจเกิดการทุจริตรับแลกเงินดิจิทัล 10,000 กับเงินสดในราคาที่ต่ำกว่า เช่น จ่ายเป็นเงินสดให้เลย 8,000 บาทก็เป็นได้

ประเด็นที่ 4 ตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ว่าท่านนายกฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังด้วย จะหาเงินตรงนี้มาอย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยพูดมาตลอดว่าทำได้ และจะไม่กู้เงิน 560,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 18% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมดของรัฐบาล ยังไม่รวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบบล็อกเชน และ Digital Wallet ซึ่งท่านก็ไม่เคยพูดถึง ว่าจะให้ใครมาพัฒนา และให้ใครเป็นคนดูแลจัดการระบบนี้

ถ้ามาดูโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของรัฐบาล มีงบทั้งหมด 3.35 ล้านบาท ต้องจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จ่ายหนี้ จ่ายงบผูกพัน ท้องถิ่นและสวัสดิการ จะเหลือในกระเป๋าแค่ 850,000 ล้านบาท และยังต้องกันไปเป็นงบลงทุนตามกฎหมายอีก 450,000 ล้านบาท เหลือให้ใช้จริงแค่ 400,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องเอาไปแบ่งกันใช้ดำเนินการทั้ง 20 กระทรวง ตนจึงเป็นห่วงเหลือเกินว่าท่านนายกฯ และรัฐมนตรีคลังจะเอาเงินมาจากไหน แล้วจะต้องก่อหนี้ยืมสินไว้ให้ลูกหลานชดใช้อีกสักเท่าไร 

  • ถ้าหากท่านจะหาเงินจากการทำงบประมาณขาดดุลการคลัง ตัวเลขขาดดุลงบประมาณปีล่าสุดก็เกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะอยู่แล้ว ขาดดุลเพิ่มได้อีกแค่ 2.2 หมื่นล้านเท่านั้น
  • ถ้าจะยืมเงินรัฐวิสาหกิจให้จ่ายล่วงหน้า ก็ติดเพดานวินัยการเงินการคลังอีกเช่นกัน ได้อีกประมาณ 62,000 ล้านบาท
  • ถ้าจะไปตัดเงินลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 21.8% พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำไว้ 20% ก็จะตัดมาได้แค่ 1.8% หรือ 58,000 ล้าน ก็ยังห่างไกล (4) ถ้าจะขายกองทุนวายุภักษ์ทั้งหมดทิ้ง ก็อาจได้เงินประมาณ 346,000 ล้านบาท ต่อให้รวมเงินจากทุกวิธี ยังได้เงินเพียง 488,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพูดมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน แต่จากการวิเคราะห์แหล่งเงินที่ได้แจกแจงมาแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นว่าท่านจะหาเงินจากไหนมาแจกโดยที่ไม่กู้เงินเพิ่ม จึงขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน ขอให้ท่านยืนยัน ว่าจะไม่กู้เงินมาแจก และขอวิงวอนอย่าให้งานแรกของการเข้ามาบริหารประเทศของท่านคือ การทลายขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง เพื่อหาทางใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งจะไม่ได้ผ่านกลไกการตรวจสอบของสภาฯ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ผู้ที่เสียประโยชน์โดยแท้จริงก็คือประชาชน

“ถามตรงๆ ว่าปัญหาที่ท่านไม่มีกระแสเงินสดที่มากพอ และไม่สามารถหาเงิน 560,000 ล้านบาท มาได้นั้น เป็นเหตุผลให้ท่านหาทางแจกเงินดิจิทัลเป็น Utility Token หรือสิทธิในการใช้เงินในอนาคต ใช่หรือไม่” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ประเด็นสุดท้าย ความเสี่ยงที่จะทำให้นโยบายนี้ล้มเหลวคือ ปัญหาทางเทคนิค จากที่ท่านได้ยืนยันว่าต้องการทำระบบดิจิทัลวอลเล็ตด้วย blockchain โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานานั้น จริงๆ แล้ว blockchain เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาธิปไตย เพราะหัวใจของ blockchain คือ การกระจายอำนาจ โดยทำฐานข้อมูลให้กระจายออกไปหลายจุด เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลที่ไม่รวมศูนย์อยู่ที่เดียว และฐานข้อมูลแต่ละจุดสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครแอบตุกติกแก้ไขข้อมูลได้ เพราะการแอบแก้ไขข้อมูลในจุดเดียวนั้น จะไม่ตรงกับข้อมูลในจุดอื่นๆ ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ข้อมูลที่แอบแก้ไขก็จะถูกตีตกไป ไม่ได้รับการยอมรับ 

"เหตุผลที่ท่านอ้างในการใช้ blockchain เช่น มีความปลอดภัยสูง ก็ไม่จริง เพราะ blockchain อย่าง Ethereum ก็เคยถูก hack ขโมยเหรียญ ETH ออกไปมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาแล้วในปี 2016 โดยอาศัยช่องโหว่ใน Smart Contract หรือเหตุผลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นจริงด้วยเงื่อนไขที่ว่า blockchain ต้องไม่รวมศูนย์เก็บฐานข้อมูลไว้ที่คนกลุ่มเดียว ต้องเปิดให้คนหลายกลุ่มเข้าถึง และตรวจสอบฐานข้อมูลของ blockchain ได้ แต่ในโครงการของรัฐเช่นนี้ ชัดเจนว่ามีตัวกลางคือ รัฐ และ blockchain นี้น่าจะมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยรัฐบาลหรือคนกลุ่มเดียวที่รัฐบาลมอบหมาย" นายชัยวัฒน์ กล่าว 

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุผลว่าสามารถเขียนโปรแกรมเงื่อนไขต่างๆ ได้ (programmable) ต้องเรียนข้อเท็จจริงตามตรงว่า ถึงไม่ใช้ blockchain ก็เขียนโปรแกรมเงื่อนไขเหล่านี้ได้ และระบบชำระเงินอย่างแอป ‘เป๋าตัง’ ก็ทำมาให้เห็นอยู่แล้ว ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ดังนั้น สรุปได้ว่าเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ใช่ความจำเป็นที่จะต้องใช้ blockchain มาทำ digital wallet แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ Blockchain ยังจะนำไปสู่ปัญหา เพราะมีข้อจำกัดที่คนในวงการ Blockchain ทั่วโลกทราบกันดีคือ การทำธุรกรรมที่ช้า แม้ตอนนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ให้รองรับธุรกรรมได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากอยู่ดีที่จะใช้กับระบบชำระเงินที่จะมารองรับผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนที่ใช้พร้อมๆ กัน

“ผมเองเคยทำโครงการเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางหรือ CBDC มาแล้ว โดยผ่านการใช้เทคโนโลยี Blockchain ชั้นนำมาแล้ว 3 ราย จึงบอกได้ว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับระบบชำระเงินที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนหลายสิบล้านคนพร้อมกัน” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย blockchain และคาดหวังที่จะให้ blockchain กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคตที่จะสร้างศักยภาพใหม่ๆ ให้คนไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ ที่ท่านไม่ควรเอามาผูกกันกับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งท่านบอกว่ามีความเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากระบบ blockchain นี้ล้มเหลว สาธารณชนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี blockchain ไปอย่างกู่ไม่กลับ และท่านอาจไม่สามารถพัฒนา blockchain ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยได้อีกเลย

“ท่านควรคิด ควรออกแบบ โดยรับฟังความคิดเห็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญในวงการ blockchain อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน อย่าหวังว่าจะยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะถ้าปืนด้าน ยิงไม่ออก นกสักตัวก็จะไม่ได้” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงไม่เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ถูกจุด และอาจไม่เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดไว้ สร้างภาระด้านงบประมาณทิ้งไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป 

“ผมขอเสนอแนะให้ท่านนายกฯ ทบทวนรายละเอียดต่างๆ โดยแยกเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน กับเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลออกจากกัน เพราะนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ ฟังดูแล้ว มีแต่ข้อมูลและคำตอบที่เลื่อนลอย หากท่านไม่สามารถชี้แจงรายละเอียด และตอบคำถามแก่ประชาชนได้ ก็อย่าเพิ่งเดินหน้าจนกว่าจะให้ความกระจ่าง เพราะหากท่านดึงดันที่จะทำ ผู้เสียประโยชน์โดยแท้จริง ก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ” นายชัยวัฒน์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์