‘วรภพ’ หวั่นดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายเข้าเจ้าสัว ถามกล้าทลายทุนผูกขาดหรือไม่

‘วรภพ’ หวั่นดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายเข้าเจ้าสัว ถามกล้าทลายทุนผูกขาดหรือไม่

‘วรภพ ก้าวไกล’ กาง 5 วิธีช่วยเหลือผู้ประกอบการ หวั่นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต สุดท้ายเข้ากระเป๋าเจ้าสัว ตั้งคำถามตัวโต ๆ ถึง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กล้าแก้ไขกฎหมายล้าสมัย ทลายทุนผูกขาดหรือไม่ เปิดช่องให้ SME ฟื้นตัวแท้จริง

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายของรัฐบาลประเด็นนโยบายเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ว่า เมื่อได้อ่านและรับฟังคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญของ SME น้อยเกินไปมาก ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลพูดถึง SME มีแค่ 1 คำ ในประเด็นกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งที่พบกับปัญหาเศรษฐกิจมานานตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ถ้ามองแค่ภาพกว้าง คิดว่าการกระตุ้น แจกเงินเพียงครั้งเดียวจะฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ลงลึกรายละเอียดสาเหตุแต่ละปัญหา จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้ กังวลว่าจะแก้ไขไม่ตรงจุด จึงขออภิปรายใน 5 ประเด็น เพื่อหวังว่ารัฐบาลจะรับไปปรับปรุง ดังนี้
    
1.สิ่งที่ SME คาดหวังจากนโยบายรัฐบาล เรียกว่าแต้มต่อ คือรายย่อยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ เพราะกลุ่มทุนใหญ่มีทรัพยากรได้เปรียบมากกว่า และทุกคนเห็นชัดเจนว่ากลุ่มทุนเหล่านี้มีแนวโน้มกินรวบเศรษฐกิจไทยทุกวัน จึงอยากให้ SME มีแต้มต่อ ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ากระเป๋า SME มากขึ้น ให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น

ยกตัวอย่าง นโยบายเติมเงินดิจิทัล เดิมเข้าใจว่ารัฐบาลกำหนดให้ใช้เงินได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร สาเหตุคือต้องการให้กระจายการใช้เงิน แต่อยากให้รัฐบาลทบทวน เปลี่ยนเป็นกำหนดว่า เงินดิจิทัลใช้ได้เฉพาะร้านรายย่อย หรือ SME เท่านั้น เพราะถ้าต้องการให้เศรษฐกิจฟื้น ต้องย้อนไปดูว่าเป็นเพราะผู้ประกอบการรายย่อยใช่หรือไม่ ได้รับผลกระทบมากสุด ควรกำหนดเงื่อนไขเฉพาะไปเลย นี่ต่างหากจึงเกิดการกระจายเม็ดเงินไปทุกพื้นที่ได้จริง ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล หรือถ้าวัตถุประสงค์รัฐบาลต้องการเห็นเม็ดเงินสะพัด เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบ การกำหนดเงื่อนไขให้หมุนเงินกันเฉพาะรายย่อยเท่านั้น ย่อมตอบโจทย์วัตถุประสงค์มากกว่า

2.โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของ SME ระบบเศรษฐกิจที่บอกว่า กลุ่มทุนใหญ่กินรวบทุกวัน อธิบายเข้าใจง่ายคือ ปีที่แล้วสินเชื่อที่อนุมัติให้ SME ลดลง 2% แต่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มขึ้น 5% สถานการณ์ดังกล่าวเป็นมายาวนานก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ นี่คือความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันชัดเจน เมื่อเงินทุนจากสินเชื่อในระบบไหลกองไปกลุ่มทุนใหญ่หมด เงินทุน SME ก็ลดน้อยลงไปเรื่อย ความเหลื่อมล้ำในไทยจึงชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่ SME คาดหวังจากรัฐบาลคือเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะรายย่อย รายเล็กที่มีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่อยากอนุมัติสินเชื่อให้ ถ้ารัฐบาลไม่มาค้ำประกัน เหมือนเราเคยมองปัญหานี้ และทางแก้ไขไว้เหมือนกัน เราต้องการสนับสนุนนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริง แต่วันนี้ไม่เห็นในนโยบาย ก็ค่อนข้างน่าผิดหวัง เราจะได้เห็นการสนับสนุน SME ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบในรัฐบาลชุดนี้ได้หรือไม่

3.การแก้หนี้นอกระบบ ไม่เห็นเป็นการเฉพาะในคำแถลงนโยบายเช่นกัน คงต้องขอเสนอแนะต่อรัฐบาลตรง ๆ เชื่อว่านี่คือปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ มี 3 มาตรการที่อยากเห็นให้ทำคู่กัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกู้หนี้นอกระบบ 

  • รัฐบาลต้องมีโครงการค้ำประกันหนี้เสียให้ SME แยกตามแต่ละขนาดไปเลย เพราะมีหนี้เสียแตกต่างกัน ไม่ว่ารายเก่า รายใหม่ ผู้มีประวัติบูโร
  • ผู้ที่มีข้อมูลที่อยู่ในหน่วยงานรัฐ สามารถมาขอกู้ได้โดยสะดวก
  • ขอให้ธนาคารรัฐช่วยอนุมัติผู้มีประวัติบูโรด้วย

“ในยามหมุนเงิน ความไวเป็นเรื่องของปีศาจ ถ้ารัฐบาลทำควบคู่กัน SME คงไม่ต้องหนีไปกู้นอกระบบ นี่คือมาตรการไม่ให้คนไปกู้นอกระบบโดยไม่จำเป็น แต่คนที่ไปกู้นอกระบบไปแล้ว รัฐบาลควรเจรจาปรับหนี้ให้เป็นธรรม จึงอยากเสนอรัฐบาลชุดนี้ว่า ถ้าต้องการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม ต้องทำทั้งไม้แข็ง และไม้อ่อน คือนิรโทษกรรมเจ้าหนี้ที่ยอมปรับโครงสร้างให้เป็นธรรม” นายวรภพ กล่าว

นายวรภพ กล่าวอีกว่า 4.แก้หนี้เสียจากวิกฤติโควิด-19 เช่น หนี้ในระบบ เข้าใจคำแถลงนโยบายรัฐบาลคือ จะพักชำระหนี้ลูกหนี้ที่มีปัญหาช่วงโควิด-19 แต่อยากเสนอว่า การพักชำระหนี้จะช่วยบรรเทา แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้หลุดพ้นปัญหาหนี้ได้ อยากให้รัฐบาลมุ่งเป้าช่วยลูกหนี้ปลดหนี้มากกว่า เช่น แก้ไขกฎหมายให้ SME หรือบุคคลธรรมดา มีสิทธิ์ฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้ทุกรายพร้อมกันไปได้ ลูกหนี้ถึงจะหาทางออกได้ นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลมีมาตรการให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อเป็นธรรมกับลูกหนี้ อย่างน้อยรัฐบาลควรบังคับธนาคารของรัฐทุกแห่ง ใครลูกหนี้ดีมีรางวัล ลดดอกเบี้ยให้ ใครมีปัญหาค่างวด เงินต้นต้องลดทุกงวด ลูกหนี้ถึงมีกำลังใจ ถ้ารัฐบาลชุดนี้ทำปัญหาหนี้สินถึงมีทางออก

5.การรื้อกฎหมายผูกขาดและล้าสมัย เห็นจากคำแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายไม่จำเป็น นโยบายนี้พวกเราสนับสนุนแน่นอน เพราะไทยมีกฎหมายยุบยับเป็นอุปสรรคกับการทำมาหากินเยอะไปหมด ที่รอรัฐบาลเข้ามารื้อและแก้ไข หวังว่ารัฐบาลจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำสอง ที่เอาแต่รอ และปล่อยหน่วยงานราชการริเริ่มปรับปรุงกฎหมายล้าสมัย เพราะความจริงไม่มีหน่วยงานไหนเลย อยากยกเลิกอำนาจหรือใบอนุญาตซ้ำซ้อนเลย อยากให้รัฐบาลชุดนี้รับฟังภาคเอกชนโดยตรงว่า กฎหมายใดไม่จำเป็น กฎหมายใดต้นทุนบังคับใช้มากกว่าประโยชน์ที่จะได้ เร่งออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่ เป็นต้น 

นายวรภพ กล่าวด้วยว่า โดยกฎหมายล้าสมัย เป็นจุดตั้งต้นของส่วย และระบบหัวในราชการ สร้างอุปสรรค สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วยกัน ขอเป็นความชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้กฎหมายใดเร่งด่วนต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง ถ้าให้ยกตัวอย่างชัดที่ผู้ประกอบการเจออยู่คือ โรงแรมขนาดเล็ก แรงงานต่างชาติ โซนนิ่งสถานบริการ นอมินีธุรกิจต่างชาติ ส่วนกฎหมายเอื้อการผูกขาด เช่น การผลิตสุรา ส่งออกข้าว นำเข้าปุ๋ย โควตาแม่ไก่ไข่ เป็นต้น หวังว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพื่อปลดล็อคเศรษฐกิจได้โดยเร็ว

“แต่ที่ไม่ชัดเจนในคำแถลงนโยบายคือ ปลดล็อคกฎระเบียบสุราพื้นที่บ้าน เป็นคำถามว่าการแก้กฎหมายเล็กน้อย ๆ พอเป็นพิธีหรือไม่ เพราะถ้าล็อคมูลค่าเศรษฐกิจสุรา 5 แสนล้านบาทไว้กับเจ้าสัว ผมก็ว้าวุ่นเลย เพรานี่คือโอกาสของ SME ไทย ในการต่อยอดสร้างโอกาสให้กับประเทศ และเกษตรกรจำนวนมาก จึงมีคำถามตัวโตว่า รัฐบาลชุดนี้กล้าหาญพอ ทลายกฎหมายผูกขาดเหล่านี้ ที่ไม่ได้มีแค่สุราเฉพาะเจ้าสัวพันล้าน ไม่ว่าจะส่งออกข้าว การนำเข้าปุ๋ย โควตาแม่ไก่ไข่ที่ผูกขาดบริษัทเจ้าสัวเท่านั้น ต้องการรัฐบาลตอบชัด ๆ ว่าจะทลายทุนผูกขาดเหล่านี้หรือไม่ หรือจะทำอยู่ทำต่อกฎหมายผูกขาดเหล่านี้ต่อไป เพราะถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่กล้ายกเลิกกฎหมายผูกขาด โอกาสคนไทยได้อ้าปากมีกินมีใช้คงไม่เกิด และเสียดายโอกาสของไทยอย่างมาก ถ้าไทยเปลี่ยนรัฐบาลพลเรือนทั้งที แต่ยังอยู่ภายใต้ทุนผูกขาดแบบเดิม ๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนเดิม ประชาชนคาดหวังจริง ๆ” นายวรภพ กล่าว