ป.ป.ช.แนะ 500 ส.ส.ป้ายแดง ยื่นทรัพย์สินได้ 3 ช่องทาง เตือนอย่าล่าช้า

ป.ป.ช.แนะ 500 ส.ส.ป้ายแดง ยื่นทรัพย์สินได้ 3 ช่องทาง เตือนอย่าล่าช้า

เลขา ป.ป.ช. แนะ ส.ส.ป้ายแดง ทั้ง 500 คน เตรียมตัวยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ทำได้ 3 ช่องทาง ยึดวันปฏิญาณตนต่อสภาฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ส่วน 'นายกฯ-ครม.' ยึดวันถวายสัตย์ฯ เตือนหากยื่นล่าช้า ต้องแจงเหตุผล

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยตามประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์และการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการป.ป.ช. พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ส่วน ส.ส.ให้ถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องยื่นพร้อมเอกสารประกอบซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย อย่างไรก็ตามทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการนั้นรวมทรัพย์สินและหนี้สินที่มีในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สำคัญคือต้องยื่นภายในกำหนดเวลาเท่านั้น แต่หากไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาผู้ยื่นต้องชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ ให้ใช้แบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศของคณะกรรมการป.ป.ช. โดยยื่นได้ 3 ช่องทาง คือ

1.จัดส่งด้วยตนเองหรือมอบหมายบุคคลอื่นจัดส่งแทน ณ สำนักงานป.ป.ช.ส่วนกลาง และสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัด

2. จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

3. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออนไลน์ผ่านระบบ ODS ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็ว เพียงเตรียมไฟล์ และเอกสารประกอบให้อยู่ในรูปแบบ PDF

โดยสามารถยื่นได้ที่เว็บไซต์ https://asset.nacc.go.th/ods-app/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ สายด่วน 1205 หรือติดต่อที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ