ลุ้นจุดเปลี่ยนเลือกตั้ง 66 “4 ล้านเสียง” นิวโหวตเตอร์

ลุ้นจุดเปลี่ยนเลือกตั้ง 66 “4 ล้านเสียง” นิวโหวตเตอร์

เปิดรายละเอียด "เลือกตั้ง 66" หลัง กกต.เคาะวันหย่อนบัตรทางการ 14 พ.ค. ผู้มีสิทธิกว่า 52 ล้านคน "เฟิร์ส โหวตเตอร์" กว่า 4 ล้านคน เทียบสถิติกับปี 62 เป็นยังไงบ้าง

       ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ในที่สุดก็มีบทสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการเพื่อรับทราบ ก่อนจะส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

      โดยการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คล้ายคลึงกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,322,824 คน มีจำนวนค่าเฉลี่ยราษฎร 162,766 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

      ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทั้งหมด 52,322,824 คน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) คือผู้ที่มีอายุ 18-22 ปี (เนื่องจากรัฐบาลมีอายุ 4 ปี) จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็น 7.67% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

     โดย กกต.เผยแพร่ปฏิทินการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดวันเลือกตั้งคือวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยในวันที่ 21 มี.ค. 2566 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ต่อมาวันที่ 27 มี.ค.-13 เม.ย. 2566 วันลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต/นอกเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร ถัดมาระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย. 2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

       หลังจากนั้นในวันที่ 3 พ.ค. 2566 วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 7-13 และ 15-21 พ.ค. 2566 วันแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

       วันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และนอกเขตเลือกตั้ง และวันลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ

        หากแบ่งเป็นรายจังหวัดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีรายละเอียด ดังนี้

        ตราด 175,456 คน ระนอง 139,918 คน สมุทรสงคราม 157,326 คน สิงห์บุรี 169,012 คน ชัยนาท 263,483 คน นครนายก 210,522 คน พังงา 206,696 คน มุกดาหาร 277,406 คน แม่ฮ่องสอน 180,638 คน ลำพูน 335,262 คน สตูล 239,626 คน อ่างทอง 225,630 คน อำนาจเจริญ 302,251 คน อุทัยธานี 261,826 คน กระบี่ 355,921 คน จันทบุรี 428,989 คน

        ชุมพร 404,171 คน ตาก 403,872 คน น่าน 390,055 คน บึงกาฬ 328,854 คน ประจวบคีรีขันธ์ 432,324 คน ปราจีนบุรี 395,773 คน พะเยา 388,095 คน พัทลุง 417,217 คน พิจิตร 430,898 คน เพชรบุรี 389,563 คน แพร่ 367,300 คน ภูเก็ต 312,177 คน ยโสธร 434,781 คน ยะลา 380,367 คน สมุทรสาคร 445,745 คน

       สระแก้ว 438,387 คน หนองคาย 411,968 คน หนองบัวลำภู 407,352 คน อุตรดิตถ์ 369,327 คน กำแพงเพชร 569,482 คน ฉะเชิงเทรา 577,273 คน ตรัง 501,361 คน นครพนม 569,707 คน ลำปาง 615,045 คน เลย 508,385 คน สระบุรี 510,570 คน สุโขทัย 480,847 คน กาญจนบุรี 647,730 คน นราธิวาส 574,348 คน ปัตตานี 507,741 คน

  พระนครศรีอยุธยา 666,138 คน พิษณุโลก 688,462 คน ระยอง 586,239 คน ราชบุรี 683,769 คน ลพบุรี 600,693 คน สุพรรณบุรี 677,831 คน กาฬสินธุ์ 790,378 คน นครปฐม 739,975 คน นครสวรรค์ 842,836 คน เพชรบูรณ์ 786,761 คน มหาสารคาม 777,082 คน ชัยภูมิ 905,966 คน เชียงราย 946,475 คน ปทุมธานี 959,698 คน สกลนคร 911,950 คน สุราษฎร์ธานี 829,213 คน

      นนทบุรี 1,056,121 คน ร้อยเอ็ด 1,059,336 คน สมุทรปราการ 1,084,352 คน สุรินทร์ 1,093,291 คน ศรีสะเกษ 1,166,203 คน สงขลา 1,097,253 คน ชลบุรี 1,231,169 คน เชียงใหม่ 1,334,230 คน นครศรีธรรมราช 1,220,232 คน บุรีรัมย์ 1,252,395 คน อุดรธานี 1,253,524 คน ขอนแก่น 1,454,567 คน อุบลราชธานี 1,476,856 คน นครราชสีมา 2,125,833 คน กรุงเทพมหานคร 4,483,319 คน

ลุ้นจุดเปลี่ยนเลือกตั้ง 66 “4 ล้านเสียง” นิวโหวตเตอร์

      สำหรับรายละเอียดภายหลังการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 77 จังหวัด เมื่อคำนวณจากจำนวนราษฎรที่ไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) มี ส.ส.มากที่สุด 33 คน รองลงมาคือนครราชสีมา 16 คน จังหวัดที่มี ส.ส. 11 คน มี 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี จังหวัดที่มี ส.ส. 10 คน มี 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ชลบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี บุรีรัมย์ จังหวัดที่มี ส.ส. 9 คน มี 2 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ สงขลา

       ส่วน จังหวัดที่มี ส.ส. 8 คน มี 4 จังหวัดคือ นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุรินทร์ จังหวัดที่มี ส.ส. 7 คน มี 5 จังหวัด คือ เชียงราย ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่มี ส.ส. 6 คน มี 5 จังหวัดคือ กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม จังหวัดที่มี ส.ส. 5 คน มี 9 จังหวัด คือ ปัตตานี ลพบุรี กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี สุพรรณบุรี

      จังหวัดที่มี ส.ส. 4 คน มี 8 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง นครพนม ลำปาง เลย สระบุรี สุโขทัย จังหวัดที่มี ส.ส .3 คน มี 21 จังหวัด คือ ตาก กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู สมุทรสาคร และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่มี ส.ส. 2 คน มี 10 จังหวัด คือ ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทองอำนาจเจริญ และอุทัยธานี จังหวัดที่มี ส.ส.1 คน มี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี

      หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคกลาง 26 จังหวัด จะมี ส.ส. 122 คน ภาคใต้ 14 จังหวัดจะมี ส.ส. 60 คน ภาคเหนือ 16 จังหวัดจะมี ส.ส. 37 คน ภาคอีสาน 133 คน ภาคตะวันออกจะมี ส.ส. 29 คน ภาคตะวันตกจะมี ส.ส. 19 คน

      หากเทียบกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือปี 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน มีจำนวนค่าเฉลี่ยราษฎร 189,110 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน โดยใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562

      มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,214,120 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,341,644 คน คิดเป็น 74.69% โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) คือผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี (เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งมา 6 ปี) จำนวน 6,500,682 คน

     พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรคือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 136 คน รองลงมาคือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 116 คน และพรรคอนาคตใหม่ 81 คน ส่วนคะแนนป็อปปูลาร์โหวต พรรค พปชร.ได้มากที่สุด 8,441,274 เสียง รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย 7,881,006 เสียง และพรรคก้าวไกล 6,330,617 เสียง

      เหตุการณ์สำคัญในการเลือกตั้งปี 2562 คือ กกต.สั่งให้นับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.ขอนแก่น และสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.พิษณุโลก และเขตเลือกตั้งที่ 13 กทม. 

     รวมถึงสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 8 จ.เชียงใหม่ เนื่องจากให้ “ใบส้ม” สุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย จนถูกฟ้องในศาลปกครอง และ กกต.แพ้คดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 64 ล้านบาท 

     นอกจากนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง “บัตรเขย่ง” ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอื้อประโยชน์กับพรรคเล็กที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีบางพรรคอ้างว่า ได้จำนวน ส.ส.ไม่ตรงกับที่ กกต.คำนวณ นอกจากนี้ยังมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ด้วย

      ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน จำนวนผู้สิทธิเลือกตั้ง 46,939,549 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 35,220,377 คน คิดเป็น 75.03% จำนวนราษฎร 170,342 คนต่อจำนวน ส.ส. 1 คน กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554

      พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 265 คน รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 159 คน พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 34 คน พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) 19 คน เป็นต้น ส่วนคะแนนป็อปปูลาร์โหวต พรรคเพื่อไทยได้มากที่สุด 15,744,190 เสียง รองลงมาคือพรรค ปชป. 11,433,762 เสียง โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือ กกต.ทยอยประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่ได้ประกาศในครั้งเดียว โดยมีการประกาศผลยิบย่อยอย่างน้อย 6 ครั้ง หลังจากนั้นสั่งเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่ 2 คน ใน 2 เขตเลือกตั้ง

      ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2550 เป็นไปการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 โดยใช้ระบบ “เลือกตั้งพวงใหญ่” มีจำนวน ส.ส. 480 คน เป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน 76 จังหวัด และ ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน 8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,002,593 คน จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 32,775,868 คน คิดเป็น 74.49% 

      สำหรับพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดคือ พรรคพลังประชาชน 233 คน รองลงมาคือพรรค ปชป. 165 คน พรรคชาติไทย 37 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 คน เป็นต้น ส่วนคะแนนป็อปปูลาร์โหวต พรรคพลังประชาชนได้มากสุด 12,338,903 เสียง รองลงมาคือพรรค ปชป. 12,148,504 เสียง

       ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 2548 ก่อนการรัฐประหารปี 2549 โดยเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน คล้ายคลึงกับระบบการเลือกตั้งปี 2566 โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,572,101 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 32,337,611 คน คิดเป็น 72.55% โดยพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดคือ พรรคไทยรักไทย (ทรท.) 377 คน รองลงมาพรรค ปชป. 96 คน พรรคชาติไทย 25 คน พรรคมหาชน 2 คน ส่วนคะแนนป็อปปูลาร์โหวต พรรค ทรท.ได้มากสุด 18,993,073 เสียง พรรค ปชป.รองลงมา 7,210,742 เสียง