เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค  ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

"แนวคิดของผมไม่ได้ตรงกับพรรคมากนัก โดยเฉพาะการเข้าร่วมรัฐบาล ฉะนั้น ถ้าผมลงสมัครเลือกตั้ง มันจะเกิดความสับสน เกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้น" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจถึงการประกาศเว้นวรรคการเมือง ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ความชัดเจนจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการเทียบเชิญ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"  อดีตหัวหน้าพรรค ในการหวนคืนสภา ในฐานะ ส.ส.

ล่าสุดมีคำยืนยันจาก "บิ๊กปชป." แล้วว่า “100 รายชื่อผู้สมัคร”ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ จะไม่มีชื่อของ“อภิสิทธิ์”รวมอยู่ด้วย 

เบื้องลึกเบื้องหลังของเรื่องนี้ เป็นอย่างไร “อภิสิทธิ์”เปิดใจผ่านรายการ“คมชัดลึก” เนชั่นทีวี 22 ถึงการตัดสินใจว่า จริงๆ ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมาก เชื่อว่าถ้าใครมาพิจารณาสภาวะแวดล้อม เหตุการณ์ต่างๆ ก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก หลังเหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งตนได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ จนถึงวันนี้ตนยังเป็นสมาชิกพรรค

ทั้งนี้หลังการหารือกับนายจุรินทร์ พร้อมด้วยนายชวน หลีกภัย รวมถึงนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค เมื่อช่วงค่ำวันที่ 20 มี.ค. ได้มีการพูดคุยกันเหมือนกับที่ตนพูดกับสาธารณะว่า 

“แนวคิดของผมหลายๆ เรื่องในระยะที่ผ่านมา มันก็ไม่ได้ตรงหรือสอดคล้องกับการดำเนินการของพรรคมากนัก ตั้งแต่การเข้าไปร่วมรัฐบาล ฉะนั้น ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้ง มันจะเกิดความสับสนได้ และจะเกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้น ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นผลดีกับพรรค" 

"ครั้งนี้การแข่งขันครั้งนี้ สำหรับหลายพรรคเป็นศึกหนัก พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น หากพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และยังมีปัญหาความสับสน ความไม่มีเอกภาพ ไม่คิดว่าจะเป็นผลดี ดังนั้นผมก็เสนอว่า เหมาะสมลงตัวที่สุดก็คือ ผมไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนการจะไปช่วยพรรคหาเสียงอย่างไร ก็จะเป็นไปตามความต้องการของผู้สมัครแต่ละคน ในรูปแบบที่ไม่กระเทือนการทำงานหลักของพรรค ผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันเป็นผู้กำหนดทิศทาง เพราะฉะนั้นก็สรุปกันแบบนี้”

เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค  ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

ถามว่า ที่เสนอไม่ลงสมัคร เพราะตัวเอง หรือแรงกดดัน อดีตหัวหน้า ปชป.ว่า ผมไม่ได้เสนอ ผมบอกว่าการตัดสินใจร่วมกัน ได้พูดตั้งแต่ต้นว่า ผมไม่มีความประสงค์จะขัดแย้งกับพรรค เพราะฉะนั้นข้อยุติอะไรก็ตาม อยากให้เป็นข้อสรุปที่ตรงกัน ก็เป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าถามว่าอยากเป็นส.ส.หรือไม่ ตั้งแต่ชีวิตการทำงาน ที่ผ่านมาก็คือการเป็น ส.ส. ถ้าคิดอยากจะเป็น ส.ส.ไม่มีปัญหาอะไร แต่คิดว่า ผมก็มีหน้าที่ต่อองค์กร ต่อพรรค สิ่งที่ทำให้ได้ดีที่สุดคือ ในฐานะสมาชิกสนับสนุนเท่าที่ผมทำได้ 

 

"แต่การเอาผมไปวางลงในฐานะผู้สมัคร ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาในเชิงเอกภาพ และจะไม่เป็นธรรมกับผู้เลือกตั้งเท่าไหร่ ผู้เลือกตั้งก็จะเริ่มสับสนแล้วว่า ประชาธิปัตย์คืออะไร เลือกมาอีกอย่าง แล้วได้อีกอย่าง เป็นความลงตัวที่เหมาะสมสำหรับผมและสำหรับพรรค ถ้าหากเมื่อวานเราตัดสินใจร่วมกันว่า ให้ผมลงสมัคร ผมว่าน่าจะมีคำถามตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับพรรค"

เมื่อถามถึงประเด็นแคนดิเดตนายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนั้น มันจบไปตั้งแต่แรก กรรมการบริหารพรรคมีมติไปตั้งแต่ต้น ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องเคารพมติพรรค

ส่วนที่มีการมองว่า หากให้นายอภิสิทธิ์กลับมามีบทบาท อาจเป็นอุปสรรคในการจับมือร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะขั้วรัฐบาลปัจจุบันได้ อดีตหัวหน้า ปชป.กล่าวว่า เท่าที่ติดตามการสัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค (นายจุรินทร์) ได้พูดชัดว่า จะใช้วิธีขอดูตัวเลขก่อนว่า แต่ละพรรคได้มาเท่าไหร่ เหมือนกับว่าจะไม่ตอบว่า จะเป็นแนวทางไหนอย่างไร ฉะนั้นเพื่อให้ทางผู้บริหารพรรคทำงานได้ง่าย ก็ไม่อยากไปเป็นปัญหา อุปสรรค เงื่อนไขที่จะทำให้พรรคเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มกำลัง อย่างที่ผู้บริหารต้องการ

เมื่อถามว่า หลังเลือกตั้งจะมีช่องทางไหนกลับมาหรือไม่ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยหลักคงไม่มี ถ้าสถานการณ์ปกติก็คงต้องอยู่ไปจนสภาครบวาระ ผมทำงานการเมือง ผมไม่ได้เอาตัวผมเป็นตัวตั้ง คิดเสมอว่าเราเป็นนักการเมืองคนหนึ่งอยู่ในระบบ และผมก็ยังอยากสนับสนุนระบบพรรคการเมือง ผมยืนยันอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เหตุผลหนึ่งเพราะมองว่า โดยประวัติศาสตร์ โครงสร้างของพรรค เป็นพรรคการเมืองจริงๆ ผมก็ดูในมาตรฐานสากล ในพรรคการเมืองบางทีความคิดเห็นก็อาจจะหลากหลาย 

เราก็ต้องให้คนที่เป็นผู้บริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพรรค เป็นผู้กำหนดแนวทาง ใครที่อาจยังไม่สนิทใจต่างๆ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องออกจากพรรค ย้ายพรรค ตั้งพรรคใหม่ ไม่งั้นระบบการเมืองก็จะไม่มีความเป็นระบบ ก็คิดว่า ก็ทำแบบในสากล ใครที่อาจจะยังไม่สนิทใจเรื่องต่างๆ ก็อาจจะปรับบทบาทตัวเองในพรรคลงมา เหมือนกับสมาชิกพรรคทั่วไป 

เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค  ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

อภิสิทธิ์ ยังชี้แจง ถึงกระแสที่มีการล่ารายชื่อกรรมการบริหาร เพื่อเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และมีชื่อแคนดิเดตออกมา ซึ่งก็มีชื่ออภิสิทธิ์ด้วย จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า สายอภิสิทธิ์หรือไม่ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลง โดยเขาระบุว่า  

สมาชิกพรรคก็มีความหลากหลายในทางความคิด ยืนยันได้ ข่าวคราวทุกครั้งที่มีการล่ารายชื่อกัน อาจจะมีการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทุกครั้งก็จะมีสมาชิกโทรมาถามผม ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร ผมจะกลับมาหรือไม่ ผมก็ตอบทุกครั้งว่า ไม่กลับ ด้วยเหตุผลที่ว่า ขณะนี้คือพรรค ตกลงปลงใจไปร่วมรัฐบาลแล้ว การบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงในพรรค เอาผมกลับเข้าไป ไม่ใช่เรื่องของพรรคอย่างเดียวแล้ว แต่จะส่งผลกระทบกว้างขวางกว่านั้นเยอะ เรื่องการร่วมรัฐบาล เรื่องของประเทศ ฉะนั้นผมคิดว่าไม่ใช่วิธีการที่จะไปทำแบบนั้น 

"ผมก็จะยืนยันกลับไปเสมอว่า ผมไม่กลับ นี่คือเรื่องจริง พูดได้ และก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวด้วย และไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเดียวด้วย"

 ถามย้ำว่า ที่พยายามจะบอกว่า มีความเคลื่อนไหวกัน เกิดจากอภิสิทธิ์อยู่เบื้องหลัง คือไม่มีทาง “ตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่มี ผมเชื่อว่าถ้ามี ถ้าทำ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้”

“อภิสิทธิ์” ยังประเมินความนิยมพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2566 ว่า การเมืองจาก 2562 มาถึง 2566 แม้จะดูว่าสงบ รัฐบาล สภาฯ อยู่เกือบครบเทอม แต่ว่าการแบ่งขั้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ มีปัจจัยเดียวที่เปลี่ยนแปลงไป คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งวางตำแหน่งตัวเองว่า พร้อมจะจับมือได้กับทุกขั้ว แต่ในแง่การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ คุณทักษิณ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

ก็เลยเป็นเรื่องที่คนประเมิน การหาเสียง การแข่งขัน เดี๋ยวนี้จึงไม่หวังไปดึงฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะฝ่ายค้านเค้าก็อาจจะมองว่า 4 ปีรัฐบาล ถ้าดูจากการสำรวจความนิยมมาเป็นลำดับ คนที่ไม่พอใจรัฐบาลอาจมีเพิ่มขึ้น คะแนนก็อาจไหลไปอยู่ทางฝ่ายนั้นโดยอัตโนมัติ มาถึงวันนี้ ที่นิด้าโพลออกมา ข้อสังเกตหนึ่งคือ เที่ยวนี้ไม่ค่อยเหมือนเที่ยวก่อนๆ คือ ที่บอกยังไม่ได้ตัดสินใจเลยค่อนข้างน้อย เมื่อก่อนใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง ผู้ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 10-20 ก็มี แต่ครั้งนี้น้อยมาก เหมือนกับว่าพอจะรู้แล้วว่าเลือกใคร และถ้าจะเปลี่ยนใจ โอกาสจะเปลี่ยนข้ามขั้ว น้อยมาก ดังนั้นก็จะเป็นการแข่งขันในขั้วเดียวกัน

เราจึงเห็นการกระทบกระทั่งกันมากขึ้น ของพรรคในขั้วเดียวกันมากเป็นพิเศษ ห้วงเดือนที่ผ่านมาทั้งในซีกรัฐบาล ก็มีศึกชิงตัวผู้สมัคร ส.ส.ด้วย ในซีกฝ่ายค้านก็มีประเด็นที่ตึงเครียดขึ้นมาระหว่าง พรรคฝ่ายค้านใหญ่สองพรรค 

ภาพรวมตรงนี้ ระหว่าง 2566 กับ 2562 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากเราพอจับกระแสได้ว่า เสียงสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเพิ่มขึ้น แล้ววันนี้ถึงวันเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของการหาเสียงที่พยายามขยายส่วนของตัวเอง กินเพื่อนในขั้วเดียวกันมากกว่า ที่จะไปกินคนละขั้ว 

 

เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค  ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

เมื่อถามถึงโฉมหน้ารัฐบาลครั้งหน้า อภิสิทธิ์ มองว่า วันนี้ถ้าดูจากผลสำรวจนิด้าโพล ที่ทำอย่างต่อเนื่อง มีความน่าเชื่อถือสูง รวมถึงการวิเคราะห์จากคอการเมืองทั้งหลาย ก็จะมองว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคใหญ่ที่สุด ขณะที่อันดับ 2 เผลอๆ อาจไม่ถึง 100 เสียง 

บรรยากาศหลังเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจึงถูกมองว่า มีโอกาสที่จะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่บังเอิญ วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ทำใหโจทย์ของพรรคเพื่อไทย 250 ที่นั่ง ยังไม่ได้ จะต้องได้ 375 ขึ้นไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนวิเคราะห์ว่า เพื่อไทยเล็งที่จะจับมือพลังประชารัฐ ซึ่งคนมองว่ามีทั้ง ส.ส.และส.ว.ที่พอจะโน้มน้าวให้มาเลือกได้  

ส่วนท่าทีพรรคอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ก็สังเกตว่า พรรคก้าวไกลประกาศชัดว่า ร่วมกับใครไม่ได้บ้าง ภูมิใจไทย ดูเหมือนไม่ได้ปฏิเสธใคร ถ้าผลเป็นอย่างโพลที่ออกมา อย่างไรก็ต้องไปเริ่มที่เพื่อไทยก่อน ที่จะได้รับโอกาส

ถ้าเพื่อไทยได้เกิน 250 แล้วอีกฝ่ายไปตั้งรัฐบาลโดยไม่มีเพื่อไทย เพื่อไทยเองก็ล้มได้ตลอดเวลา แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าได้ 250 ก็เกิดคำถามว่า จะให้เค้าตั้งรัฐบาลอย่างไร เงื่อนไขที่ใครจะมาจับด้วยคืออะไร ถ้าไม่ถึง 250 ก็อาจจะมีช่องทางอื่นๆ มากขึ้น เพื่อไทยก็ทราบดี จึงได้พูดแลนด์สไลด์แต่ต้น

ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขและเงื่อนไข รวมถึงท่าทีพรรคอื่นๆ  ถ้าผลโพลบ่งชี้เช่นนี้ อย่างไรก็ต้องไปตั้งต้นที่เพื่อไทยก่อน ใครใกล้ 357 มากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการขยับตัวเลขจาก 250 มาเป็น 310 เสียง เค้าคงมั่นใจว่าอีก 65 เสียงต้องมา ซึ่งส่วนที่เหลือน่าจะไปกินจากขั้วฝ่ายค้านเป็นหลัก 

“อภิสิทธิ์” ยังวิเคราะห์ถึง โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะกลับมาได้ต่อเมื่อมีเสียงฝั่งที่สนับสนุนเกิน 250 เสียง เพราะการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้เสียงเกินครึ่ง และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยอมรับที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯด้วย ไม่เช่นนั้นคงอยู่ยาก เท่าที่ดูโพลวันนี้ ดูเหมือนภูมิใจไทยจะเป็นใหญ่ที่สุด จึงไม่ใช่งานง่ายสำหรับ พล.อ. ประยุทธ์ 

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสข้ามขั้วได้ง่ายกว่า ถ้าดูจากจดหมายที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง พร้อมทำงานพรรคที่เคยแบ่งขั้วทั้ง 2 ข้าง แต่ข้อได้เปรียบของ พล.อ.ประวิตร คือน่าจะโน้มน้าวเสียง ส.ว.ได้จำนวนหนึ่ง 

เบื้องลึก ‘อภิสิทธิ์’ เว้นวรรค  ‘4 บิ๊ก ปชป.’ สยบศึก ‘อนุรักษ์’

“อภิสิทธิ์” ยังทิ้งท้ายถึงการชิงคะแนนในขั้วอนุรักษ์นิยมด้วยกันว่า คะแนนที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ รอบที่แล้ว ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคะแนนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้น คะแนนที่เคยเลือกพลังประชารัฐในบางพื้นที่ ที่คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอยู่ โดยเฉพาะภาคใต้ ก็มีแนวโน้มคะแนนจะไปรวมไทยสร้างชาติ คือตาม พล.อ.ประยุทธ์ไป 

ในพื้นที่อื่น ก็ขึ้นอยู่กับพลังประชารัฐ ว่าได้มาเพราะความนิยมของพรรค หรือมี ส.ส.บ้านใหญ่ ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่ง ถ้าบ้านใหญ่ยังอยู่ คะแนนพลังประชารัฐก็อาจไม่ไปรวมไทยสร้างชาติมากกว่ากรณีอื่น 

 ส่วนกระแส พล.อ.ประยุทธ์ ยังเหมือนปี 62 หรือไม่ อภิสิทธิ์ มองว่า คะแนนซีกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเทียบกับปี 62 ก็ลดลง ดูจากการสำรวจความเห็น จึงอยู่ที่ช่วงการเลือกตั้ง จะสามารถดึงกลับมาได้หรือไม่ อย่างไร 

“ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ภาคใต้ชัดเจนกว่าที่อื่น ในหมู่นักการเมืองซีกรัฐบาลเอง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่านก็ยังเป็นอันดับหนึ่งอยู่” อภิสิทธิ์ ทิ้งท้าย