ปุจฉาสุดวิสัยหรือผิดพลาด?? “เรือหลวงสุโขทัย”จมทะเล

ปุจฉาสุดวิสัยหรือผิดพลาด?? “เรือหลวงสุโขทัย”จมทะเล

ถือเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับ เรือหลวงสุโขทัย ที่อับปางลงกลางอ่าวไทย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดเรือหลวงที่มีสมรรถนะสูงถึงจมลงได้

ประวัติศาสตร์ต้องบันทึก 23.30 น. คืนวันที่ 18 ธ.ค 65 “เรือหลวงสุโขทัย” ที่เข้าประจำการในกองทัพเรือไทย เมื่อ 35 ปีก่อนตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2530 ซึ่งมีภารกิจที่ต้องเดินทางไปร่วมงานจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ "องค์บิดาของทหารเรือไทย” ในโอกาสครบรอบวันสิ้นพระชนม์ 100 ปี ที่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรฯ จ.ชลบุรี จมลงกลางทะเล หลังจากช่วงบ่ายเจอคลื่นลมแรง ขณะลาดตระเวนอยู่บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ ห่างจากฝั่งบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 40 เมตร 

สาเหตุเรือหลวงสุโขทัยจมทะเล เกิดจากน้ำทะเลไหลเข้าเครื่องยนต์ ทางท่อไอเสียข้างเรือ ระบบไฟฟ้าทั้งหมดในเรือดับเสียหายจนควบคุมเรือไม่ได้ เรือเอียงและจมลงกลางทะเล ทำให้กำลังพลที่อยู่บนเรือ 105 นายหาพบแล้ว 82 นายเสียชีวิต 6 นายและ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 17 นาย อยู่ระหว่างการค้นหา 23 ราย โดยผู้สูญเสียจะได้รับการเลื่อนยศ 5 ชั้นยศและได้รับเงินชดเชยตามระเบียบของทางราชการประมาณ 1-2 ล้านบาทแล้วแต่สิทธิของแต่ละบุคคล

“เรือหลวงสุโขทัย” เป็น เรือคอร์เวต สร้างโดยบริษัท ทาโคมา โบ๊ตบิลดิ้ง ที่เมืองทาโคมา รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย ทั้งการป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และ สงครามปราบเรือดำน้ำ ความยาวตลอดลำ 76.8 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต ความเร็วสูงสุด 24 นอต ระวางขับน้ำปกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุด 960 ตัน ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,568 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 87 นาย เป็นเรือลำที่ 2 หลังจากที่ปลดระวางลำแรกไปก่อนหน้านี้

คำถามในขณะนี้ก็คือว่าทำไม “เรือหลวง” ถึงจมทะเลได้ เพราะน่าจะถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อคลื่นลม และมีระบบที่ป้องกันน้ำเข้าท่อไอเสีย ซึ่งปกติแล้วต้องสูบน้ำออกเพื่อกู้เรือได้ แต่กลับไม่สามารถทำได้จนทำให้เครื่องยนต์พัง และเรือเอียงจนจมทะเล ที่สำคัญชูชีพในเรือมีไม่เพียงพอกับจำนวนลูกเรือขัดแย้งกับหลักการของเรือโดยทั่วไป ที่จำนวนชูชีพต้องมีเท่ากับจำนวนคนบนเรือ และต้องสวมชูชีพขณะที่อยู่ในเรือเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งมีคำถามว่าที่ผ่านมามีการซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานหรือไม่ น้ำหนักคนบนเรือเกินกว่าที่จะรองรับได้หรือไม่

โดยเฉพาะก่อนที่เอาเรือออกลาดตระเวนมีการดูพยากรณ์อากาศประกอบหรือไม่ เนื่องจากมีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา (18 ธ.ค.65 เวลา 17.00 น.) ระบุว่า ช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค.65 จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 20 ธ.ค.65 จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

เชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ “กองทัพเรือ” ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่จากนี้ไปกองทัพเรีอควรจะต้องมีขบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และเปิดเผยว่า “เหตุการณ์กรณีศึกษา” ครั้งนี้ว่าเกิดจากอะไร เป็นความประมาทหรือเหตุสุดวิสัยหรือไม่ อย่างไร ที่ทำให้ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ไว้ว่า เรือรบที่จมทะเลครั้งนี้เป็นลำแรกของกองทัพเรือที่จมในรอบ 70 ปี