ผ่า 2 ปม"เรือหลวงสุโขทัย"อับปาง กู้เรือพิสูจน์“ภัยธรรมชาติ-ระบบ” ?

ผ่า 2 ปม"เรือหลวงสุโขทัย"อับปาง กู้เรือพิสูจน์“ภัยธรรมชาติ-ระบบ” ?

"ต้องตรวจสอบองค์วัตถุ และความเสียหายบนเรือหลวงสุโขทัยก่อนที่จะมีข้อสรุป เช่น ถูกกระแทกทำให้ตัวเรือรั่ว เรือร้าว เรือปะทุ ท่อไอเสียกันน้ำเข้าฉีกขาด ทำให้น้ำรั่วเข้ามา ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด โจทย์ตอนนี้ต้องกู้เรือขึ้นมาให้ได้ก่อน"

ปม “เรือหลวงสุโขทัย” อับปางในทะเลอ่าวไทย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565 ทำให้มีผู้สูญหายในขณะเกิดเหตุ เป็นทหาร 30 นาย กระทั่งผ่านไป 2 วัน 20 ธ.ค. พบผู้เสียชีวิตได้รับการยืนยันแล้ว 4 ราย ซึ่ง “กองทัพเรือ” ยังคงปฏิบัติภารกิจค้นหาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเข้าใจถึงความเสียหาย

ทว่า ก็มีคำถามมากมายพุ่งตรงไปที่ “กองทัพเรือ” เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือที่มีสมรรถนะสูง เสมือนเรือรบเสียด้วยซ้ำ มีระบบป้องกันภัยที่ดี แม้จะมีพายุถล่มอย่างหนัก โดยเรือหลวงสุโขทัย ซื้อจากสหรัฐอเมริกา คุณสมบัติ ระวางขับน้ำ: ปกติ 866.8 ตัน / เต็มที่ 958.9 ตัน กว้างxยาวxสูง: 9.6 x 76.7 x 26.82 เมตร น้ำลึกหัว: 3.81 เมตร น้ำลึกท้าย: 3.07 เมตร โดมโซนาร์: 4.5 เมตร

เครื่องจักรใหญ่: ดีเซลจำนวน 2 เครื่อง ชนิด 4 Stroke, Single Action แบบ 20V 1163 TB 83 กำลัง 7,268 แรงม้า เครื่องไฟฟ้า: จำนวน 4 เครื่อง ชนิด Self-Regulating Brushless Alternators แบบ DKB 100/550-4TS ความเร็ว: มัธยัสถ์ 16 นอต สูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการสูงสุด: 3,568 ไมล์ทะเล

ภารกิจหลักของเรือหลวงสุโขทัย คือการปราบเรือดำน้ำ ลาดตระเวน ตรวจการณ์ คุ้มกันกระบวนเรือ สนับสนุนการยิงฝั่ง ส่วนภารกิจรอง คือสนับสนุนภารกิจกองทัพเรือ แม้จะมีอายุใช้งานถึง 35 ปี แต่ก็ได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

ขีดความสามารถของเรือหลวงสุโขทัย ระดมยิงด้วยปืน 76/62 OTO MELARA 1 กระบอก ต่อสู้อากาศยานด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ 1 กระบอก ป้องกันระยะประชิดด้วยปืนกล 40L70 มิลลิเมตร แท่นคู่ ปืนกล 20 มิลลเมตร 2 กระบอก และเครื่องทำเป้าลวง DAGAIE

ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ ASPICE 2000 ด้วยแท่นยิง ALBATROS Mk2 9/T ท่อตอร์ปิโด 2 แท่น MK 32 MOD5

โดยในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 เมื่อเดือน มี.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการฝึกยิงตอร์ปิโด MK 46 เพื่อทดสอบระบบควบคุมการยิง และศักยภาพของลูกตอร์ปิโด ทดสอบความพร้อมของหน่วยยิง โดยทำการฝึกที่บริเวณอ่าวไทยตอนล่างใกล้เกาะพะงั้น ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยทำหน้าที่เป็นเรือยิงหลัก และเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรือยิงสำรอง

จากการฝึกในหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่า “เรือหลวงสุโขทัย” จะอับปางได้เลย จึงมีหลากหลายคำถามพุ่งตรงมาที่ “กองทัพเรือ” ให้อธิบายข้อเท็จจริง สาเหตุเรือหลวงสุโขทัยล่มกลางอ่าวไทย

คำถามแรกเกิดจาก “ภัยธรรมชาติ” จริงหรือไม่ เนื่องจากเรือหลวงสุโขทัยถูกออกแบบมา เพื่อรองรับการสู้รบในทุกมิติ จึงไม่น่ามีปัญหากับคลื่นลมพายุในทะเล แม้จะมีคลื่นสูง ซึ่งโดยปกติเรือหลวงสุโขทัยสามารถสู้กับคลื่นสูงประมาณ 5 เมตร ได้อย่างไร้ปัญหา

“วงในกองทัพเรือ” ระบุว่า สภาพตัวเรือ หรือองค์วัตถุของเรือหลวงสุโขทัยได้รับการซ่อมบำรุงมาอย่างดี แต่ต้องไปเช็คดูว่าในขณะเกิดเหตุเรือไปกระแทกกับอะไรใต้น้ำหรือไม่ จนเป็นสาเหตุให้มีน้ำเข้า เพราะโจทย์สำคัญที่ทำให้เรือล่มคือ มีน้ำเข้าเรือ ต้องเช็คระบบควบคุมเรือทั้งหมด สิ่งเหล่านี้จะทราบได้ต่อเมื่อต้องกู้เรือขึ้นมาก่อน

คำถามต่อมาคือ “บุคลากรบนเรือ” มีระดับผู้บังคับบัญชาบนเรือครบ ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งมีคำอธิบายว่า “ผู้การเรือ-ต้นเรือ” เป็นบุคลากรชั้น 1 โดยเรือที่มีคุณค่าของกองเรือยุทธการมีอยู่ 5 ลำ หนึ่งในนั้นคือ เรือหลวงสุโขทัย ซึ่งคนที่จะเข้ามาประจำการในเรือลำนี้ต้องผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี ในขณะที่ผู้การเรือเป็นครูสอนหลักสูตร ผบ.เรือด้วย ส่วนต้นเรือเป็นหนึ่งใน Top Fight ของรุ่น

“กุญแจสำคัญอยู่ที่ต้นเรือ เพราะขณะนี้ยังหาตัวไม่เจอ ซึ่งเขาจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะอยู่แพไหน ออกไปทิศทางใด แต่เชื่อว่าในสถานการณ์วิกฤติขนาดนั้นการดำเนินการต่างๆไม่ได้เป็นไปตามแผนมากนัก” แหล่งข่าว ระบุ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา “กองทัพเรือ” เคยประสบเหตุเรือล่มมากแล้ว แต่ป้องกันความเสียหายได้ เช่น เรือนเรศวร เมื่อครั้งไปฝึกที่ออสเตรเลีย โดนกระแทกจนทะลุกลางเรือ แต่สามารถผลึกน้ำได้ เรือไม่เอียง เมื่อตรวจเจอรีบผลึกน้ำกั้นห้อง ทำให้เรือสามารถลอยอยู่ได้

“แต่สถานการณ์เรือหลวงสุโขทัยแตกต่างออกไป เนื่องจากคลื่นลมแรงมาก ทำให้สมดุลของเรือไม่เพียงพอ และทำให้ไฟดับ ซึ่งต้องตรวจสอบองค์วัตถุ และความเสียหายบนเรือก่อนที่จะมีข้อสรุป เช่น ถูกกระแทกทำให้ตัวเรือรั่ว เรือร้าว เรือปะทุ ท่อไอเสียกันน้ำเข้าฉีกขาด ทำให้น้ำรั่วเข้ามา ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด โจทย์ตอนนี้ต้องกู้เรือขึ้นมาให้ได้ ก่อนที่จะตรวจสอบองค์วัตถุทำให้น้ำเข้ามา ต้องไปพิสูจน์ว่าเกิดจากสาเหตุใด”

แม้เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางในครั้งนี้จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุกันต่อไป แต่สิ่งที่ “กองทัพไทย” ต้องเผชิญคือการจัดหายุทโธปกรณ์ ตลอดจนแผนในการส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยุทโธปกรณ์ที่จัดหามาใช้ รวมถึงการซ่อมบำรุงมีราคาสูงลิบ

ยิ่งการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเครื่องยนต์ของประเทศจีน ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน จึงไม่มีใครกล้าการันตีว่าจะสามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น “เรือสุโขทัย” ล่ม สะเทือนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของทุกเหล่าทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะถูกตรวจสอบถึงความคุ้มค่า ความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น