นิติบุคคลบริจาคทำบุญ ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ หรือต้องเสียภาษีกันแน่

นิติบุคคลบริจาคทำบุญ ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ หรือต้องเสียภาษีกันแน่

เปิดกรณีศึกษา นิติบุคคลนำค่าใช้จ่ายจากการบริจาคมาลดหย่อนภาษี หรือหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระภาษีที่ต้องเสียได้ แต่ลักษณะใดบ้างที่ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ หรือลักษณะไหนต้องเสียภาษี

กรมสรรพากรมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการบริจาคมาลดหย่อนภาษี หรือหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระภาษีที่ต้องเสียได้ แต่การบริจาคนั้นมีหลายวิธี เช่น บริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ และมีที่มาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อไปบริจาค หรือนำสินค้าของบริษัทไปบริจาค

โดยที่มาของสิ่งของบริจาคหรือจะบริจาคเป็นเงินก็ตาม หลายกรณีมีทั้งนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้และไม่ได้ รวมถึงบางกรณีต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งวันนี้เรามีกรณีศึกษาที่มาของสิ่งของ หรือเงินบริจาคลักษณะใดใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ หรือลักษณะไหนต้องเสียภาษี ไปติดตามกันเลย

กรณีศึกษาที่ 1 บริจาคเงินให้มูลนิธิผ่านระบบ e-Donation

การบริจาคเงินให้กับมูลนิธิที่อยู่ในเงื่อนไขกฎหมายกำหนด ว่าสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ บริษัทจะสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค

โดยจะต้องทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่มูลนิธิ 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

และจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมากจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิดังกล่าว ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ การบริจาคเงินให้มูลนิธิโดยผ่านระบบ e-Donation สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยที่นิติบุคคลไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้เลย เนื่องจากเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพกากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว

กรณีศึกษาที่ 2 การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้ตามสถานที่ต่างๆ​

หากบริจาคให้กับองค์การสาธารณกุศล/สถานศึกษาเอกชน ถือเป็นต้นทุนของสินค้า ซึ่งนำมาเป็นรายจ่ายของบริษัทได้ แต่ไม่ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกรมสรรพากรกำหนดว่า การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ให้ถือเป็นการขาย ดังนั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนการบริจาคสินค้าให้หน่วยราชการ/รัฐบาล สถานพยาบาลเอกชน นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นต้นทุนสินค้าของบริษัท สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ หรือหากบริจาคสินค้าให้สำนักสงฆ์ มูลนิธิ สมาคม ที่ไม่อยู่ในรายชื่อประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณะกุศล / คณะบุคคลอื่น นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้นทุนสินค้าของบริษัทไม่ถือเป็นรายจ่าย จึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

ทั้งนี้ การบริจาคสินค้าหากจะได้ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด คือ จะต้องบริจาคสินค้าให้แก่ สถานพยาบาล และสถานศึกษาของราชการ องค์กรหรือสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาลและสถานศึกษาอื่น ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยให้ขอเอกสารหลักฐานจากสถานศึกษา ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่สถานศึกษาจริง อย่างเช่นหนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ใบอนุโมทนาบัตร

กรณีศึกษาที่ 3 การบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้ส่วนราชการ​

นอกจากได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริจาคให้กับสถานที่ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว การบริจาคสินค้าแบบไม่ต้องนำมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่บริจาค มารวมเป็นมูลค่าฐานภาษี คือไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเข้าเงื่อนไขดังนี้

- นิติบุคคลรบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า ให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือวาตภัย
- นิติบุคคคบริจาคทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้แก่ส่วนราชการตามโครงการทางราชการ ได้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายด้วยโรงเรียนเอกชน

กรณีศึกษาที่ 4 บริจาคสิ่งของ สินค้าของบริษัท

นิติบุคคลที่นำสิ่งของหรือสินค้าของบริษัทมาบริจาคให้ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ จะถือเป็นการจำหน่าย จ่ายโอนสินค้า ซึ่งตามกฎหมายถือว่าการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ให้ถือเป็นการขาย นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

กรณีศึกษาที่ 5 ซื้อสินค้ามาเพื่อบริจาค

นิติบุคคลที่มีการซื้อสินค้าเพื่อบริจาค สินค้าที่ซื้อมาไม่สามารถนำมาใช้ภาษีซื้อได้ หรือไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับการนำสิ่งของและสินค้าของบริษัทมาบริจาค

กรณีศึกษาที่ 6 บริจาคเพื่อการส่งเสริม อนุรักษ์ คุ้มครองและอื่นๆ

นิติบุคคลที่บริจาคเงินและทรัพย์สินเพื่อการบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ รวมถึงการก่อสร้างถนนและได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาล โดยไม่มีค่าตอบแทน

ตลอดจนการส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวน การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติ และการส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ หรือภาวะมลพิษ และของเสียอันตราบ และกองทุนสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

สรุป

การบริจาคไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรือทรัพย์สินต่างๆ ที่นิติบุคคลได้จ่ายไปนั้น หากมีการบริจาคจริงย่อมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ไม่มากก็น้อย และหลายๆ กรณีได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แต่บางกรณีก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ แถมยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ด้วยเหตุนี้ นิติบุคคลต้องพิจารณาให้ดีก่อนบริจาค เพื่อให้การบริจาคแต่ละครั้งบริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด  
 
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting