แบไต๋ “เรือดำน้ำ”ติดเครื่องยนต์จีน จับวงรอบ “ผบ.ทร”คนใหม่เซ็นรับ

แบไต๋ “เรือดำน้ำ”ติดเครื่องยนต์จีน จับวงรอบ “ผบ.ทร”คนใหม่เซ็นรับ

1 ใน 2 ตัวเต็ง ที่จะชิง "เก้าอี้ ผบ.ทร." ในอนาคต ต่อจาก "พล.ร.อ.เชิงชาย" จะเป็นผู้เซ็นรับมอบ และปิดจ็อบ "เรือดำน้ำจีน" ที่ลากยาวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

แม้ “กองทัพเรือ” จะยืนยันว่า ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ อยู่ระหว่างหารือ ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะเปลี่ยนเครื่องยนต์จากจีน CHD 620 แทนที่เครื่องยนต์จากเยอรมนี MTU 396 แต่การเผยแพร่ภาพกราฟิกอธิบายการขับเคลื่อนเรือดำน้ำ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการชี้นำหวังลดกระแสสังคม หากอนาคต “เรือดำน้ำไทย” ต้องติดตั้งเครื่องยนต์จีน

การหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง กองทัพเรือ ผู้แทนบริษัท CSOC และผู้ช่วยทูตทหารจีนประจำประเทศไทย ในฐานะผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก มีขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2565 ด้วยประเด็นเดิมๆ ที่เคยถกกันมาหลายครั้งแล้ว คือ “เครื่องยนต์ดีเซลขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า”

จนกลายมาเป็นที่มา ภาพกราฟิกที่กองทัพเรือเผยแพร่ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะคำว่า “เท่านั้น” เหมือนจะสื่อว่า เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไม่ว่าจะยี่ห้อเยอรมัน หรือยี่ห้อจีน ใช้เฉพาะเมื่อเรือแล่นบนผิวน้ำ และการชาร์จแบตเตอรี่

ทั้งๆ ที่ เครื่องยนต์ เปรียบเสมือนหัวใจหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนเรือดำน้ำ ทั้งบนผิวน้ำ และใต้น้ำ แต่ข้อความในกราฟิก เหมือนกองทัพเรือ ลดความสำคัญของเครื่องยนต์ลงไป ดังเนื้อหาต่อไปนี้

1.เรือดำน้ำที่กองทัพเรือสั่งซื้อนั้น ทุกครั้งที่ใบจักรหมุน หมุนด้วยพลังงานจากไฟฟ้าเท่านั้น

2.เครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้เมื่อเรือแล่นบนผิวน้ำ และการชาร์จแบตเตอรี่เท่านั้น

3.ทุกครั้งที่เรือดำน้ำดำ จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เรือดำน้ำ

4.เรือดำน้ำที่กองทัพเรือสั่งซื้อ เป็นเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซล

เดิมที “กองทัพเรือ” ยืนยันที่จะใช้เครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี ในขณะที่ผู้แทนบริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาได้ เพราะติดปัญหาเยอรมนีไม่ขายให้ พร้อมเสนอเครื่องยนต์ CHD 620 จีนผลิตเองทดแทน ที่ยังไม่เคยใช้ในเรือดำน้ำประเทศไหนมาก่อน

ปัญหานี้คาราคาซังมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ด้วยบริษัท CSOC ติดปัญหาโควิด-19 ระบาดในประเทศจีนอยู่เป็นระลอก ส่วนกองทัพเรือก็โดนกระแสสังคมและฝ่ายการเมืองกดดันมาตลอด ถึงขั้นเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญา แม้จะสามารถทำได้ แต่การซื้อขายแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐที่ผูกโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้กองทัพเรือตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

“ตอนนี้เรายังมีสิทธิ์ยกเลิกได้ตลอด แต่ก็ต้องเจรจากันก่อน เพราะเราก็กังวล เราต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย เช่นกัน ในขณะที่ทางจีนก็พยายามเจรจากับกองทัพจีน ให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย คือมาช่วยรับประกันเพื่อให้เราสบายใจ” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.ระบุ

อย่างไรก็ตาม การหารือร่วม 3 ฝ่ายในครั้งนี้ จะได้กรอบเวลาคร่าวๆ ว่า เดือนมกราคม-เมษายน 2566 กองทัพเรือจะส่งเจ้าหน้าที่เทคนิค กรมอู่ทหารเรือ ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบทดลองเครื่องยนต์ CHD 620 ณ โรงงานผู้ผลิตที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ กองทัพเรือยังกำหนดความต้องการว่า เครื่องยนต์ CHD 620 ที่บริษัทเสนอ จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหารจากกองทัพเรือจีน ซึ่งเป็นกองทัพเรือของประเทศผู้ผลิต โดยกระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2566 จากนั้น กองทัพเรือ จะได้รวบรวมข้อพิจารณาเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลต่อไป

ดูจากเดดไลน์ การส่งมอบเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไทย ต้องขยับไปเป็นปี 2568 ล่าช้าไป 2 ปี จากเดิมต้องส่งมอบกลางปี 2566 เนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 ทำให้การต่อเรือล่าช้า ก่อนแก้สัญญาเลื่อนส่งมอบไปเป็นปี 2567 และมาติดปัญหาเครื่องยนต์อีกครั้ง

ในระหว่างนี้ “กองทัพเรือ” มีแผนเสนอรัฐบาลอนุมัติเปลี่ยนงบประมาณปี 2566 ในส่วนของเรือดำน้ำ มาจัดหา“เรือฟริเกต”ลำที่ 2 ใช้ปราบเรือดำน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งเป็นตามความต้องการเดิมของกองทัพเรือ ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต สมรรถนะสูง จำนวน 2 ลำ เพื่อมาทดแทนเรือฟริเกตที่ปลดประจำการไปแล้ว

ก็ชัดเจนว่า ปัญหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย จะลากยาวไปถึง ผบ.ทร.คนต่อไปในอนาคต ซึ่งตัวเต็งที่คาดว่าจะเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. ต่อจาก พล.ร.อ.เชิงชาย ที่จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2566 มีอยู่ 2 คน คือ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) ผู้ช่วย ผบ.ทร. และ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ (ตท.23) เสนาธิการทหารเรือ ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ

โดยทั้ง พล.ร.อ.สุวิน และ พล.ร.อ.ชลธิศ มีอายุราชการถึงปี 2558 คาดว่า 1 ใน 2 คนนี้ จะเป็นผู้เซ็นรับมอบ และปิดจ็อบเรือดำน้ำจีน ที่ลากยาวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน