ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน. “ประยุทธ์” รอดปม 8 ปี ไม่นับความเห็น กรธ.

ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน. “ประยุทธ์” รอดปม 8 ปี ไม่นับความเห็น กรธ.

เปิดฉบับเต็ม! คำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ชี้ “ประยุทธ์” รอดพ้นบ่วงปม 8 ปี นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อ เริ่มนับ 6 เม.ย. 60 วันประกาศใช้ รธน.60 ไม่นับความเห็น กรธ.เหตุเป็นแค่ความมุ่งหมาย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาหารือเพื่อลงมติ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของฝ่ายค้าน ไปให้วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบกำหนด 8 ปี ระหว่าง 24 ส.ค. 2557 - 24 ส.ค. 2565 หรือไม่

โดยเมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ ฝ่ายผู้ร้อง ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายนายเจษฎ์ อนุกูลโภคารักษ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมือง และรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนมาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกร้องมอบหมาย พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แทนมาศาล

ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีนี้คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 170 มาตรา 158 มาตรา 159 และบทเฉพาะกาล มาตรา 264

โดยศาลเห็นว่า บทบัญญัติกฎหมายของรัฐธรรมนูญปี 2560 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามมาตรา 159 และมาตรา 172 โดยมีหลักการสำคัญคือ การพิจารณาบุคคลเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องดำเนินการตามบัญชีรายชื่อที่เสนอแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา 172 และดำรงตำแหน่งนายกฯตามมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 จึงถือว่าเป็นนายกฯ ตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยบริบูรณ์

กล่าวคือ การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องพิจารณากระบวนการแต่งตั้งตามมาตรา 158 และ 159 โดยเฉพาะเงื่อนไขมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมถึงมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่นำส่งต่อ กกต. และเป็นพรรคที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ตรงตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2560

ทั้งนี้ ผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอ โดย สนช.มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้อง ไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต้องมีที่มาจากมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ส่วนมาตรา 263 วรรคสอง บัญญัติว่า นอกจากจะมีคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 (6) ในส่วนเกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) (4) และในส่วน (4) เกี่ยวข้องกับมาตรา 98 นั้น ได้ยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนการดำเนินการตามมาตรา 184 (1) วรรคสาม บัญญัติว่า การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีตามเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ปี 2558 และแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ปี 2559 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสองด้วย ส่วนมาตรา 263 วรรคสี่ บัญญัติว่า ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับกับการสมัคร ส.ส. และรัฐมนตรี โดยอนุโลม

ศาลรัฐธรรมนูญ มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ครม.ที่มีผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกฯ ตาม ครม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีบทบัญญัติมุ่งหมาย 2 ประการ ได้แก่

1.เพื่อให้บทบัญญัติ ยืนยันหลักความต่อเนื่องของ ครม. กล่าวคือ แม้ ครม.ซึ่งผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ จะเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ 6 เม.ย. 2560 แล้ว ต้องถือว่า ครม.ซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญอื่นก็ตาม ย่อมเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ดังกล่าว

2.เพื่อนำกฎเกณฑ์ประกาศใช้บังคับใหม่ มาใช้บังคับกับ ครม.ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักทั่วไป ครม.บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลยกเว้นว่า ไม่ให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินวันก่อนวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวยกเว้นบางเรื่องเท่านั้น หากมิได้บัญญัติยกเว้นเรื่องใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเรื่องนั้น ๆ ทั้งสิ้น

ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 เป็นไปตามหลักทั่วไปใช้บังคับกฎหมาย กฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อ 6 เม.ย. 2560 ย่อมมีความหมายว่า ทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะกาล จะมีการบัญญัติให้เรื่องใด ยังไม่มีผลการใช้บังคับ ไม่ว่ากรณีใดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างต้องเริ่มนับทันที กรณีเป็นไปตามมาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันที นับแต่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น วินิจฉัยได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

ส่วนข้อความที่อ้างคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2550 และคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกภาพ ส.ส. มิใช่โทษทางอาญา กระทำได้เช่นเดียวกับคำร้องของคดีนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นกรณีพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค และทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง รวมถึงมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง และ 2 กรณีดังกล่าว มีบทบัญญัติเขียนไว้โดยชัดเจนว่า มีผลย้อนหลังได้ เพราะกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือขาดคุณสมบัติแต่แรก

แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับ ไม่ได้บัญญัติกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลัง คำวินิจฉัย 2 ดังกล่าว เป็นคนละกรณีข้อเท็จจริงกรณีนี้ เป็นกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง มีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่างกัน ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

ข้ออ้างผู้ร้องที่ว่า บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 เมื่อ 7 ก.ย. 2561 ระบุเจตนารมณ์ จำกัดการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ชัดเจน ประกอบการประชุมดังกล่าว ประธาน กรธ. (มีชัย ฤชุพันธุ์) และรองประธาน กรธ. คนที่ 1 (สุพจน์ ไข่มุกด์) ให้ความเห็นการนับระยะเวลาการนับดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ระบุว่า บุคคลใดก็ตามดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ สามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ เมื่อรวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปีนั้น 

ศาลเห็นว่า การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ว่า มีความมุ่งหมายอย่างไร แต่การพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน

ประกอบความเห็นประธาน กรธ. และรองประธาน กรธ. คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างดังกล่าว มิได้นำไประบุไว้ในความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุม กรธ. ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฏประเด็นการพิจารณา หรืออภิปรายการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งว่า สามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ มีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เม.ย. 2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 การดำรงตำแหน่งของผู้ถูกร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำรงตำแหน่งภายในรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 158 วรรคสี่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องถือว่าวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นรับตำแหน่ง เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายก ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์