ของแพง-ค่าแรงต่ำ-โรคภัยรุม ยื่น10 ข้อ ยกระดับชีวิตแรงงาน

ของแพง-ค่าแรงต่ำ-โรคภัยรุม ยื่น10 ข้อ ยกระดับชีวิตแรงงาน

1 พ.ค. วันแรงงานแห่งชาติ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และคณะกรรมการจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการองค์การลูกจ้างจากภาคส่วนต่างๆ ยื่น 10 ข้อเรียกร้องประจำปี 2567 ยกระดับคุณภาพชีวิตงานและแรงงาน

เนื่องใน วันแรงงานแห่งชาติ (1 พ.ค.2567) สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และคณะกรรมการจัดงานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการองค์การลูกจ้างจากภาคส่วนต่างๆ ได้ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี 2567 ต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี จำนวน 10 ข้อด้วยกัน 

 

ซึ่งนายอนุทิน ได้รับปากว่า จะให้ความสำคัญในการพิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆ เรื่องไหนที่สามารถทำได้ก็จะทำทันที และหากเรื่องไหนต้องเจรจา ต้องวางแผนร่วมกัน เพื่อทำให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปได้ ส่วนเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ล่าช้า เพราะต้องรับฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่าย แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่ง รมว.แรงงาน ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้ได้ เพราะเป็นนโยบายสำคัญ ไม่แพ้นโยบายดิจิตอลวอลเล็ต สิ่งนี้รัฐบาล และ กระทรวงแรงงาน เต็มใจปฎิบัติอย่างเต็มที่ เนื่องจากอยากเห็นสวัสดิภาพ สวัสดิการ ความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน แต่ขอเวลาถึงวันที่ 1 ต.ค.2567 

 

"ยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีเด็กเกิดน้อย เข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงได้มีความพยายามดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง "

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน จะรับไปพิจารณาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการข้อเรียกร้องให้ยกระดับคุณภาพชีวิตงานและแรงงาน เช่น การเร่งรัดออกกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน ก็คล้ายกับการเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 การยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานได้ ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานอนุสัญญาโครงการแรงงานระหว่างประเทศ หลายฉบับ

 

ทั้งเรื่อง เสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาความปลอดภัย ในการทำงาน โดยเฉพาะฉบับ 144 การปรึกษาหารือร่วมกับไตรภาคี จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม และจะลงนามให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

สถานการณ์แรงงานไทย

ขณะที่ สถิติแรงงานรายเดือน มี.ค.2567 ของกองเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลประเทศไทยมีกำลังแรงงานรวม 40.45 ล้านคน ตอนเดือนก.พ.2567 มี 40.54 ล้านคนผู้มีงานทำ 39.79 ล้านคน ตอนเดือนก.พ. จำนวน 39.92 ล้านคน

 

ภาคเกษตร 11.53 ล้านคน เดือนก.พ. จำนวน 11.06 ล้านคน นอกภาคเกษตร 28.86 ล้านคน เดือนก.พ. จำนวน 28.86 ล้านคน ผู้ว่างงาน อัตรา 1 % เท่ากับเดือน.ก.พ.

 

ขณะที่จำนวนผู้ว่างงาน โดยอ้างถึงไตรมาส 4/2566 จำแนกตามอายุ 15-19 ปี ว่างงาน 28,489 คน 20-24 ปี ว่างงาน 143,460 คน

 

 

25-29 ปี ว่างงาน 70,617 คน 30-34 ปี ว่างงาน 30,523 คน 35-39 ปี ว่างงาน 16,335 คน 40-49 ปี ว่างงาน 21,081 คน 50-59 ปี ว่างงาน 16,131 คน มากกว่า 60 ปี ว่างงาน 2,655 คน นอกจากนี้ ผลการตรวจแรงงาน สถานประกอบการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในเดือน มี.ค.2567 พบว่า สถานประกอบการ ปฏิบัติถูกต้อง 1,661 แห่ง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 124 แห่ง ลูกจ้างได้รับการปฏิบัติถูกต้อง 54,461 คน ได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 5,069 คน

 

แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ณ มี.ค. 2567 รวม 407,168 คน แยกเป็นถูกกฎหมาย 220,678 คน ผิดกฎหมาย 31,119 คน

 

คนไทยที่พำนักผิดกฎหมาย 155,371 คน จำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศที่ยังทำงานอยู่ ณ เดือน มี.ค.2567 รวม 138 ประเทศ จำนวน138,021 คน แยกเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 12 ประเทศ รวม 16,800 คน ทำอยู่ในประเทศอิสราเอลมากที่สุด 13,546 คน

 

กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 71 ประเทศ รวม 12,865 คน ทำอยู่ในประเทศโปรตุเกสมากที่สุด 2,156 คน กลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 27 ประเทศ รวม 107,751คน

 

ทำอยู่ในประเทศไต้หวันมากที่สุด 55,675 คน รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ 21,507 คน และญี่ปุ่น 15,949 คนกลุ่มประเทศแอฟริกา 28 ประเทศ รวม 605 คน ทำอยู่ในประเทศสาธารณรัฐเซาท์ซูดานมากที่สุด 176 คน

 

ประมาณการรายได้ที่ส่งกลับประเทศไทย ปีงบประมาณ 2567 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมการจัดหางาน รวมทั้งสิ้น 131,129 ล้านบาท แยกเป็น เดือนม.ค. 23,387 ล้านบาท เดือนก.พ.22,194 ล้านบาท เดือนมี.ค. 21,658 ล้านบาท เมื่อปี 2566 อยู่ที่ราว 245,414 ล้านบาท

 

ของแพง-ค่าแรงต่ำ-โรคภัยรุม ยื่น10 ข้อ ยกระดับชีวิตแรงงาน

 

สินค้าแพงก่อนค่าจ้างขึ้น

ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากการสำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 19-25 เม.ย.2567 สถานภาพทางการเงินของแรงงานไทยส่วนใหญ่ 79.5 % ตอบว่ามีปัญหาจากราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้มากขึ้น รายได้ไม่เพิ่มแต่ราคาของเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น รายได้ลดลง และมีของที่ต้องการมากขึ้น ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบสถานการณ์ปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น

1.การบาดเจ็บจากการทำงาน

2.โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน

3.โรคหัวใจขาดเลือด

4.โรคจากพิษสารกำจัดศัตรูพืช5.โรคผิวหนัง

6.โรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง

7.โรคจากพิษสารตัวทำละลายอินทรีย์

8.โรคปอดฝุ่นหิน (Silicosis)

9. โรคหอบหืด

10.โรคจากความร้อน หรือ Heat stroke

11. Office Syndrome

12. ปัญหาด้านสุขภาพจิตอีกด้วย 

 

10 ข้อเรียกร้องของสภาองค์การลูกจ้าง

1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98

2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง

3.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้

3.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

3.2 ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป

3.3 เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต

3.4 กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ

3.5 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อ มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33

3.6 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี ขยายอายุเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ

3.7 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1

6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการ จากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

6.1 ขอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ให้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการตามหลักการเดิมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณอายุเช่นเดียวกับข้าราชการ

6.2 ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย จำนวน 1 ล้านบาท ที่ลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี

7.ขอให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน