ผ่าปมกฎเหล็ก 180 วัน-แบ่งเขตใหม่ กกต.กางข้อกังขา เอื้อ “ขั้วอำนาจ”

ผ่าปมกฎเหล็ก 180 วัน-แบ่งเขตใหม่ กกต.กางข้อกังขา เอื้อ “ขั้วอำนาจ”

ดังนั้น ทุกย่างก้าวของ กกต.ในฐานะผู้คุมกฎการเลือกตั้ง จึงถูกจับจ้องถึงการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ว่าจะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่

ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ผู้เตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า และพรรคการเมือง ระมัดระวังในการแจกสิ่งของเพื่อช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 อาจเข้าข่ายซื้อสิทธิ์ขายเสียง เนื่องจากครบ 180 วันก่อนหมดอายุสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มี.ค. 2566

โดยกำหนดให้ผู้สมัคร และพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียง ให้เป็นไปตาม มาตรา 68 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น

ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งมีช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 จนถึงก่อนวันเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับ และรายจ่ายในการเลือกตั้งไว้ด้วย

ทำให้เกิดข้อกังขาการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากปม 180 วันอันตราย ที่ขึงพืดนักการเมืองให้ขยับยาก หากเกิดการยุบสภาก่อนจะไม่นับรวม 180 วัน ดังนั้นอาจจะเข้าทาง “ขั้วรัฐบาล” โดยเฉพาะ “3 ป.” ที่เป็นคนกำหนดเกม รู้ก่อนคู่แข่งว่าจะยุบสภา หรืออยู่ครบเทอม

"สมชัย ศรีสุทธิยากร" ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ฐานะอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มองว่า เกณฑ์ 180 วัน สามารถแก้เกมกันได้ เช่น พรรคลุงคนหนึ่ง มีการจัดเลี้ยง ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งล้ำไปช่วง 180 วัน

“หากผู้มีอำนาจตัดสินใจยุบสภาเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ไม่คิดเลย เพราะการนับจะกำหนดตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา ความผิดต่างๆ นั้นจะรอดพ้นการจับตาในกรอบ 180 วัน”

“สมชัย” ต้องการชี้เป้าให้เห็นว่า กรอบ 180 วัน มีช่องโหว่ที่ “ขั้วอำนาจ” มีความได้เปรียบ “ขั้วไร้อำนาจ” เพราะหากอาจจะถูกจับแพ้ฟาวล์ได้ หากดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะถูกตีความว่าเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง แล้วถูกนำไปนับรวมเป็นรายจ่าย

แม้ กกต.เตรียมจะออกข้อกำหนดออกมาภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อวางมาตรฐานเกี่ยวกับการนับค่าใช้จ่าย แต่หากยังคลุมเครือ “ขั้วฝ่ายค้าน” เตรียมที่จะยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้วางกรอบที่ชัดเจน สิ้นข้อถกเถียง

แกนนำพรรคเพื่อไทย” วิเคราะห์ว่า ต้องจับตาข้อกำหนดของ กกต. ในทุกมาตรการ เพราะอาจมีการสอดไส้บางอย่างทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียเปรียบ

เราเคยเสียเปรียบมาแล้ว ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองฝั่ง คสช.รู้ไทม์มิ่งทุกอย่าง จึงกำหนดเกมได้ รู้แม้กระทั่งการแบ่งเขตในแต่ละจังหวัด ซึ่งทำให้เราเสียเปรียบในหลายพื้นที่ เขาแบ่งเขตตามที่คิดว่า ตัวเองจะได้เปรียบ ดังนั้นเราต้องจับตาทุกความเคลื่อนไหวของ กกต.” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุ

อย่างไรก็ตาม นอกจาก ปม 180 วัน ที่พรรคการเมืองออกมาจับพิรุธ ยังมีปมแบ่งเขตใหม่ ที่ยังติดตามกันอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากจำนวน ส.ส.เขต เพิ่มขึ้น 50 ที่นั่ง จาก 350 เขต เป็น 400 เขต ทำให้หลายจังหวัดมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น

ขณะนี้ กกต.ยังไม่กำหนดพื้นที่เขตใหม่ว่า จะเพิ่มเติมในสัดส่วนของพื้นที่ใดบ้าง ในแต่ละจังหวัด ทำให้พรรคการเมืองยังไม่สามารถวางตัวว่าที่ผู้สมัครได้ครบทุกเขต

ทำให้พรรคการเมืองสั่ง “แกนนำระดับจังหวัด” ติดตามการแบ่งเขตของ กกต.จังหวัด ที่จะส่งให้ กกต.กลาง อนุมัติ หากมีพิรุธอาจต้องออกมาคัดค้าน

ดังนั้น ทุกย่างก้าวของ กกต.ในฐานะผู้คุมกฎการเลือกตั้ง จึงถูกจับจ้องถึงการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ว่าจะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่