รู้จัก “ความฉลาดทางสังคม” (Social Intelligence) | วรากรณ์ สามโกเศศ

รู้จัก “ความฉลาดทางสังคม” (Social Intelligence) | วรากรณ์ สามโกเศศ

ผมได้หนังสือฝรั่งเป็นกึ่งสมุดภาพมาเล่มหนึ่ง แต่ละรูปจะมีคำถามและคำเฉลยเพื่อสอนสิ่งที่เรียกว่า Social Intelligence (ความฉลาดทางสังคม) จำได้ว่าภาพหนึ่งมีหญิงชายยืนถ่ายรูปคู่กัน และมีคำถามว่าสองคนนี้เป็นแฟนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ โดยสังเกตจากภาษากายในภาพ

เห็นการเกร็งตัวของทั้งสองฝ่ายเมื่ออยู่ใกล้กัน ไม่สบาย ๆ ปล่อยตัวเหมือนคนชอบพอกัน สังเกตการวางมือ วางแขน ระยะห่างระหว่างสองคนที่ยืน สีหน้าท่าทางที่แสดงออก (ผมเข้าใจจนปัจจุบันพอทายได้ว่าหญิงชายที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์กันนั้นเป็นแฟนกันหรือไม่)

ความสามารถในการเรียนรู้ความสัมพันธ์ในสังคมจะสามารถเอาไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการกระทำที่ชาญฉลาดของตนได้เสมอ ผมได้พบข้อเขียนในนิตยสารจิตวิทยามีชื่อของโลก Psychology Today ฉบับเดือนธันวาคม 2022

ที่มีชื่อว่า Your IQ’s High, But Do You Have Social Intelligence? (Ronald Riggio) เตือนให้นึกถึงความรู้ที่ได้รับจากหนังสือเล่มนั้นที่มิได้ขีดจำกัดเฉพาะการทายคนซ้อนมอเตอร์ไซค์เท่านั้น ผมขอนำเนื้อหาบางส่วนจากข้อเขียนมาใช้ในวันนี้

รู้จัก “ความฉลาดทางสังคม” (Social Intelligence) | วรากรณ์ สามโกเศศ

Social Intelligence (SI) หมายถึง ความสามารถที่จะเข้าใจและบริหารจัดการคนอื่น สามารถกระทำอย่างชาญฉลาดในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ  ตัวอย่างเช่นเห็นเพื่อนเก่าเดินมากับหญิงสาวที่ดูมีอายุมากกว่าและเด็กสาววัยรุ่น 

หากมี SI ก็คงไม่ทักว่าหน้าตาเหมือนพ่อจังเพราะตระหนักว่าอาจเป็นลูกติดแม่มาก็เป็นได้เพราะเพื่อนยังอายุไม่มาก หากทักไปเช่นนั้นก็รังแต่จะทำให้ทั้งสองคนลำบากใจ การดำเนินชีวิตชนิดที่ตนเองเป็นตัวปัญหาเพราะมี SI ต่ำ เป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาอย่างแน่นอน     

ผู้เสนอแนะความคิดเรื่อง SI ก็คือ นักจิตวิทยา Edward Thorndike ในปี ค.ศ. 1920  เขาเสนอว่าความฉลาดของมนุษย์มิได้มีแต่ IQ (Intelligence Quotient) หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลเท่านั้น

หากยังมี SI ซึ่งช่วยให้ประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตอย่างราบรื่นด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นอันเป็นผลจากความสามารถในการสังเกตและเรียนรู้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในสังคม

ในเวลาต่อมาก็เกิดแนวคิดในเรื่องมนุษย์มีความฉลาดในหลายด้าน ดังทฤษฎีของ Howard Gardner ในเรื่อง Multiple Intelligence ในปี 1983  ที่ระบุว่ามนุษย์มีความฉลาดในด้าน Visual-Spatial

เช่น (ความสามารถจินตนาการเกี่ยวกับพื้นที่ ระยะห่าง / ด้าน Linguistic-Verbal (ความสามารถในด้านการใช้ภาษา / ด้าน Logical-Mathematical (ความสามารถด้านตรรกะใช้เหตุผล)  

รู้จัก “ความฉลาดทางสังคม” (Social Intelligence) | วรากรณ์ สามโกเศศ

ด้าน Bodily-kinesthetic (ความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย และควบคุมการเคลื่อนไหว) / ด้าน Musical (ความสามารถด้านดนตรี) / ด้าน Interpersonal (ความสามารถในการเข้าใจและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น)

ด้าน Intrapersonal (ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกอารมณ์ แรงจูงใจของตนเอง) และด้าน Naturalistic (ความสามารถในการจัดการเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)   

Emotional Intelligence (EQ) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นไอเดียที่นำเสนอโดย Daniel Goleman ในปี 1995 ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะรับรู้ เข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อาจถือได้ว่า EQ เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน SI

คนมี SI สูงก็คือ คนมีสามัญสำนัก (common sense) ที่ดี เป็นคนที่ฝรั่งเรียกว่า “street smart” กล่าวคือ สามารถเอาตัวรอดด้วยไหวพริบ ด้วยบุคลิกภาพ และด้วยความเฉลียวฉลาดจากสถานการณ์ที่ลำบากหรืออันตรายได้

  • องค์ประกอบของ SI มีดังต่อไปนี้  

1. ทักษะในด้านการพูดจา คนมี SI เรียนรู้ว่าจะพูดจาอย่างน่าสนใจและสนุกสนานกับคนอื่นอย่างไร รู้ว่าอะไรที่ควรพูดและอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงภายใต้สถานการณ์สังคมที่แตกต่าง

คนมี SI จะเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นเพราะพูดจารื่นหู ไม่ขัดคอ ไม่พูดอะไรที่แสลงหู หรือทำให้บรรยากาศของการพบปะพูดจาเป็นไปอย่างลำบากใจ                  

2. ทักษะด้านการฟัง คนมี SI จะเป็นนักฟังที่ดี ให้ความสนใจแก่สิ่งที่คนอื่นพูดอย่างมากและอย่างจริงใจ อีกทั้งทำให้คนที่พูดรู้สึกว่าตนเองเข้าใจสิ่งที่เขาพูดเป็นอย่างดี การกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์กับคนที่พูด   

3. ทักษะด้านการพูดในที่สาธารณะ งานวิจัยพบว่าคนมี SI มักเป็นผู้มีประสบการณ์ในการพูดในที่สาธารณะ มักเป็นผู้ได้รับการเลือกผ่านคะแนนเสียงโดยประชาชน ทักษะในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ SI       

4. ความรู้เกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์ทางสังคม คนมี SI รู้ว่าจะ “เล่น” อย่างไรในสถานการณ์สังคมที่แตกต่างกันออกไป เขาเข้าใจ “กฎกติกาสังคม” ที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ของสังคมนั้นที่ถึงแม้ไม่มีใครบอกแต่ก็เป็นที่รู้กัน

คนมี SI จะรู้ว่าในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ จะวางตัวอย่างไร จะพูดหรือไม่พูดสิ่งใดกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

5. เข้าใจอารมณ์และสิ่งจูงใจของคนอื่นเป็นอย่างดี คนมี SI สูงจะเป็นคนช่างสังเกตการกระทำของคนอื่น ๆ เขาพยายาม “อ่าน” ความคิดและความรู้สึกของคนอื่นอยู่เสมอเพื่อที่จะสามารถกระทำสิ่งที่เหมาะสมในสถานการณ์ทางสังคมนั้น ๆ

6. จัดการเรื่องการสร้างความประทับใจตนเองของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี คนมี SI สูงจะติดตามเฝ้าดูและควบคุมพฤติกรรมของตนเองเพื่อพยายามสร้างความประทับใจด้านบวกแก่คนอื่น ๆ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดี              

การมีทักษะต่าง ๆ ข้างต้นมาจากการให้ความสนใจแก่สังคมรอบตัว  การสังเกตและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา SI มิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากเกิดจากการเรียนรู้ ติดตาม เฝ้าดู สังเกต และพยายามเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น    

มนุษย์ชอบที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่พูดจากันรู้เรื่อง เข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี และกระทำสิ่งที่ไม่ขัดแย้งความรู้สึก ดังนั้น การมีความฉลาดทางสังคมของบุคคลหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่มีความสุข