คำภาษาอังกฤษแห่งปี 2022 | วรากรณ์ สามโกเศศ

คำภาษาอังกฤษแห่งปี 2022 | วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อใกล้ปลายปีสำนักผลิตดิกชันนารีทั้งหลายในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ ต่างก็เสนอ Word of The Year บ้างก็คัดสรรคำโดยใช้กลุ่มผู้รู้ บ้างก็ให้ประชาชนลงคะแนนเลือก บ้างก็ดูความถี่จากการใช้ระหว่างปี ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีใดในการเลือกก็ตาม คำที่คัดสรรมานั้นก็จะสะท้อนสภาวะสังคมเศรษฐกิจของสังคมผู้ใช้ภาษาอังกฤษในปีนั้นๆ อย่างน่าสนใจเสมอ ลองมาดูกันว่าในปี 2022 มีคำอะไรบ้าง

คำที่สำนักพิมพ์ดิกชันนารีออกซฟอร์ดคัดสรรมามักได้รับความสนใจเสมอ ด้วยบารมีของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนอยู่และความเข้าท่า ล่าสุด ประกาศออกมาแล้วโดยใช้การโหวตออนไลน์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้วิธีการโหวตลงคะแนน 

คำที่ได้รับคะแนนสูงสุดอย่างท่วมท้นเป็น Word of The Year ของปี 2022 คือ “goblin mode” ซึ่งหมายถึง ชนิดของพฤติกรรมที่ตามใจตนเอง ขี้เกียจ ดูสกปรก ไร้ระเบียบ มีลักษณะทั่วไปที่ปฏิเสธแบบแผนของสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน

คำภาษาอังกฤษแห่งปี 2022 | วรากรณ์ สามโกเศศ

goblin” โดยความหมายคือ สัตว์ตัวเล็กในนิทานหรือนิยายแฟนตาซีที่น่าเกลียด เป็นผู้ร้าย แต่ในภาษาสแลงที่ใช้กันหมายถึงคนที่สกปรกรุงรัง ไม่อาบน้ำ ขี้เกียจ นอนเล่นทั้งวันอยู่บ้านและไม่ชอบออกไปข้างนอก หากใครถูกเรียกว่า goblin ละก็จงรู้ว่ามันไม่เป็นมงคลเอาเลย

ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งบ่มเพาะคำใหม่ๆ คำใดที่โดนใจผู้คน กล่าวคือ ตรงกับสภาวะที่เห็นว่าเกิดขึ้นถูกเวลาและถูกใจ ก็จะมีคนกล่าวถึงและนำมาใช้กันกว้างขวาง “goblin mode” คือ ลักษณะของพฤติกรรมในโหมดนั้น ส่วน gobin คือ คนที่มีพฤติกรรมสกปรก ขี้เกียจ อยู่ในบ้านอย่างไม่อยากออกไปไหน 

มีการตีความว่าคนอยู่ในโหมดของการเป็น goblin หมายถึงคนที่เลือกเองว่าจะอยู่ในโหมดของการเป็นคนสกปรก ขี้เกียจ ไม่สนใจสารรูปของตนเอง บริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และชอบอยู่ในบ้านไม่ออกไปข้างนอก แต่เนื่องจากมันเป็นโหมดของการเลือกจึงอาจอยู่ในลักษณะนี้ชั่วคราวก็ได้ เช่นระหว่างวีกเอนด์หรือวันหยุด

เหตุที่คำนี้โดนใจคนก็เพราะในช่วงโควิด-19 ระบาด มีคนจำนวนไม่น้อยในตอนที่ถูกล็อกดาวน์และเลือกไม่ออกนอกบ้านทำตัวใน “goblin mode” ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิต อยากทำอะไรที่แตกต่างออกไปบ้างอย่างขวางโลกและตามใจตัวเอง

นักวิเคราะห์เห็นว่าน่าจะมีคนที่เลือกตัวเองเข้าอยู่ในโหมดนี้ชั่วคราวเป็นจำนวนไม่น้อย จนเป็นเรื่องเจนตา เมื่อมีคนนำคำสแลงนี้มาใช้บรรยายจึงโดนใจ

คำภาษาอังกฤษแห่งปี 2022 | วรากรณ์ สามโกเศศ

“goblin mode” ของไทยน่าจะเป็นพวกที่มีพฤติกรรมขี้เกียจ นอนอืดอยู่กับบ้าน กินเหล้ากับเพื่อน ไม่ทำงานทำการ ไม่สนใจสารรูปความสกปรกของตนเอง อาจเล่นไพ่หรือเล่นการพนันต่อเนื่องกันหลายวัน ส่งเสียงสร้างความรำคาญให้เพื่อนบ้าน สำหรับคนไทยบางกลุ่มมันอาจเป็นโหมดที่ยาวมากเพราะทำมาตลอดชีวิตจนออกมาไม่ได้

สำหรับสำนักดิกชันนารี Merriam-Webster ได้เลือกคำว่า “gaslighting“ เป็นคำแห่งปี 2022 ซึ่งหมายความถึง การพยายามทำให้บุคคลหนึ่งรู้สึกไม่มั่นคงและสั่นคลอนในความเชื่อของตนเอง จนทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เห็นหรือมีประสบการณ์นั้นมิได้เกิดขึ้นจริง

การตั้งใจกระทำเช่นนี้แก่บุคคลอื่นก็เพื่อประโยชน์ของตนเอง (ผู้เขียนได้เขียนถึงคำนี้เมื่อหลายเดือนก่อนในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 20 ก.ย.2565)

อีกคำหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในกรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันอังคารที่ 21 มิ.ย.2565) และได้มาเป็นที่สองรองจาก “goblin mode" ของสำนักพิมพ์ดิกชันนารีออกซฟอร์ดคือ “metaverse“ (meta = beyond, เกินกว่า และ verse = words) ซึ่งหมายถึง application ที่กำลังจะออกใหม่มาให้ชาวโลกใช้กันในลักษณะเหมือนกับ facebook ที่เป็นสามมิติ 

กล่าวคือ facebook ทำให้ผู้คนรู้จักทักทายกันเพียงคำพูดและเห็นหน้ากัน แต่ metaverse ทำให้ผู้ใช้พบกันแบบสามมิติผ่านอุปกรณ์ประกอบ เช่น แว่นตาและอุปกรณ์ควบคุม โดยมีตัวละครเป็นตัวแทนที่สามารถพูด ฟัง สัมผัส เคลื่อนไหวด้วยการควบคุมของผู้ใช้ที่อยู่ที่บ้าน

ส่วนสำนักดิกชันนารี Collins เลือก “permacrisis" เป็นคำแห่งปี 2022 ผู้เขียนขอนำข้อเขียนที่ดีมากเกี่ยวกับคำนี้จากนิตยสาร A Day Magazine มาปรับและสื่อสารต่อในที่นี้ ขอขอบคุณนิตยสารที่นำสมัยเสมอฉบับนี้ครับ

permacrisis” แปลว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงทน เพื่อเล่าสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่คาดเดาได้ยาก เกิดความไม่มั่นคงในหลายด้าน บรรยากาศเต็มไปด้วยความวุ่นวาย น่าจะเป็นปีที่ไม่งดงามสดใสสำหรับใครหลายคน หลังผ่านยุคโควิดเราล้วนหวังว่าทุกสิ่งจะกลับมาเหมือนเดิม แต่แล้วโลกก็ยังเกิดความไม่แน่นอนต่อเนื่อง 

คำนี้จึงสะท้อนวิกฤติของโลกที่ปั่นป่วน ยืดเยื้อ ที่เราต้องเผชิญกันถ้วนหน้าในทุกทวีปทุกมุมโลก จนเราทุกคนเริ่มจะลืมไปเสียแล้วว่าความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สบายใจ นั้นรู้สึกอย่างไร

"permacrisis” เป็นคำนามซึ่งผสมมาจากคำว่า permanent (คงทนถาวร) และ crisis (วิกฤติ ภัยพิบัติ) รวมกันมีความหมายว่า ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคง อันต่อเนื่องโดยเฉพาะที่เป็นผลจากเหตุการณ์ภัยพิบัติยืดเยื้อต่อเนื่องกัน

ในช่วง มี.ค.2021 สถาบันด้านนโยบายสาธารณะ European Policy Centre เขียนบทความโดยยกคำว่า “permacrisis” มาอธิบายสถานการณ์ความไม่มั่นคงของทวีปยุโรป คาดการณ์ว่าบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนนี้จะดำเนินต่อไปอีกนาน

โลกหมุนเวียนผ่านไปปีแล้วปีเล่า และก็มีคำใหม่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดของปีนั้น เกิดขึ้นอย่างสะท้อนสภาวะและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนนึกถึงวลีสุดฮิตของคนในโลกตะวันตกที่รู้จักกันจากซีรีส์คลาสสิกชุด Star Trek ในทศวรรษ 1960

และต่อมาใน Star Wars ที่อวยพรกันเมื่อต้องประสบกับความท้าทายหรือสิ่งใหม่ในชีวิตว่า “May The Force be with you.” (ขอพลังจงสถิตอยู่กับท่าน) ซึ่งพลังหรือ The Force ในที่นี้ หมายถึง พลังวิเศษเหนือธรรมชาติที่อยู่ทุกแห่งหน