“อาหารสมอง” สำหรับปีใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

“อาหารสมอง” สำหรับปีใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ปีใหม่หมุนเวียนมาทุกปี ถ้าจะให้มีอะไรใหม่จริง ๆ ก็ควรได้มีโอกาสขบคิด “อาหารสมอง” จานใหม่ ๆ ผู้เขียนชอบสะสมข้อเขียนดี ๆ บนอินเตอร์เน็ตที่สมควรนำไปแพร่หลายต่อ วันนี้ขอนำบางข้อเขียนเหล่านั้นมาเป็น “อาหารสมอง” สำหรับปีใหม่ 2566

อาหารสมอง” จานแรกเป็นบทแปลจากงานประกวดสุนทรพจน์ในรายการทีวีจีน ผู้แปลคือ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อาร์ม จบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จบปริญญาโทกฎหมายจากฮาวาร์ด และจบปริญญาเอกกฎหมายจากสแตนฟอร์ด    

ดร.อาร์มเป็นตัวแทนที่น่าภาคภูมิใจของศิษย์รุ่นใหม่ของสาธิตปทุมวัน ขอขอบคุณบทแปลสุนทรพจน์ 3 นาที ของนักศึกษาสาวคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในหัวข้อว่า “คนรุ่นใหม่ทำอะไรให้แก่โลกบ้าง

“ฉันเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ทุกคนของฉันเคยพูดว่า กฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างนี้ แต่ในทางปฏิบัติในชีวิตความเป็นจริง” ชีวิตความเป็นจริง เป็นโลกที่น่าพิศวง ในชีวิตความเป็นจริง

คนซื่อ ๆ ที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดมักใช้ชีวิตเงียบ ๆ ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ส่วนคนที่มากเล่ห์เพทุบาย สุดท้ายกลับมีทั้งชื่อเสียง มีลาภสมบัติ เพราะฉะนั้น เด็กไร้เดียงสาอย่างฉัน จึงมักมีรุ่นพี่ที่มากประสบการณ์มาตบไหล่ฉันเบา ๆ ด้วยความเอ็นดู และบอกฉันว่า “เด็กน้อย รอจนเธอเข้าใจโลกเสียก่อน”

สิ่งที่ฉันอยากถามก็คือ คนหนุ่มสาวอย่างฉัน สามารถทำอะไรให้กับโลกได้บ้างวันหนึ่งข้างหน้า ผู้ว่าการแบงก์ชาติจะเป็นคนที่เกิดหลังปี 1990 นักธุรกิจชั้นนำ จะเป็นคนที่เกิดหลังปี1990 แม้กระทั่ง ประธานาธิบดี ก็จะเป็นคนที่เกิดหลังปี 1990

ในวันที่สังคมเป็นที่ยืนของคนที่เกิดหลังปี 1990 ฉันอยากถามเพื่อนร่วมรุ่นทุกคนว่า พวกเราอยากให้สังคมเป็นเช่นไร ฉันรู้ดีว่าไม่ใช่ทุกคนสามารถก้าวขึ้นมาฝ่าฟันพายุและคลื่นลม จนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศชาติได้   

ฉันและคุณล้วนเป็นคนเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ภายในกลไกเครื่องจักรสังคมอันมหึมา พวกเราเป็นเพียงหมุดตะปูตัวเล็ก ๆ สมัยเรียนหนังสือ พ่อแม่พูดทุกวันว่า ให้ตั้งใจเรียนเป็นอันดับแรก

อย่าเพิ่งสนใจอย่างอื่น พอถึงวันจบการศึกษา พวกเราก็เที่ยวเอาจดหมายสมัครงานหว่านไปทั่ว ด้วยความหวังว่าจะมีบริษัทรับเข้าทำงาน ผ่านไปไม่กี่ปีก็ถูกกดดันให้แต่งงาน ซื้อบ้าน   แล้วก็ใช้เวลาอีกประมาณ 20 ปีแรกของชีวิตการทำงาน    

ช่วงที่มีกำลังเต็มที่ หาเงินมาใช้หนี้ จนทำให้คนหนุ่มสาวยุ่งกับการใช้ชีวิต จนไม่เหลือความฝัน ไม่มีเวลาสนใจการเมือง ไม่มีเวลาสนใจสิ่งแวดล้อม ไม่มีเวลาสนใจชะตากรรมบ้านเมือง แล้วจะยังเหลือกำลังวังชาทำอะไรให้แก่สังคมส่วนรวมได้อีก

แต่ภายหลังฉันพบว่า มีอยู่อย่างหนึ่งที่ฉันและคุณทำได้ สิ่งนั้นคือ คนรุ่นเราไม่ว่าจะเดินไปในเส้นทางใด ขออย่าได้ทำชั่ว ขอแค่อย่าเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเคยรังเกียจในสมัยเด็ก     ถ้าต่อไปเราเป็นคนขายของแผงลอย

อย่าเอาน้ำมันทิ้งแล้วมาทอดของขาย ถ้าขายผลไม้ก็อย่าโกงน้ำหนักตาชั่ง ถ้าเปิดโรงงาน เป็นเจ้านายคนก็อย่ากดค่าแรง ลดคุณภาพวัตถุดิบ ผลิตของด้อยคุณภาพ  

“อาหารสมอง” สำหรับปีใหม่ | วรากรณ์ สามโกเศศ

คนธรรมดาหนึ่งคน ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่แสนธรรมดา ถ้าทำหน้าที่ตนให้ดีได้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะเราทุกคนตั้งแต่วันที่เราเกิดมาก็มีผลเปลี่ยนแปลงโลก

ฉันเป็นนักศึกษากฎหมาย ถ้าในภายภาคหน้า ฉันสามารถเป็นผู้พิพากษาที่มีความยุติธรรม สังคมเราจะมีผู้พิพากษาที่ดีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ย่อมเป็นสังคมที่ดีขึ้นอย่างน้อยก็นิดหนึ่ง

ฉันหวังว่าทุกคนจะตระหนักว่า แม้จะมีเหตุผลอันน่าเห็นใจนับแสนอย่างรองรับการทำชั่วตัวเราก็ต้องรักษามาตรฐานศีลธรรมของเราไว้ ด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือ เราไม่ใช่สัตว์ป่าผู้หิวโหยแต่เป็นมนุษย์ผู้รู้ผิดชอบชั่วดี เพื่อนร่วมรุ่นหนุ่มสาวของฉัน พวกเราสามารถเป็นคนหนุ่มสาวที่มีคุณภาพได้ ตลอดชีวิตเกลียดชังความชั่ว ไม่ปล่อยตัวตามกระแสแห่งคลื่นลม    

ไม่รับใช้ผู้มีอำนาจอย่างหลับหูหลับตา ไม่ลืมหลักการ ไม่ลืมความเป็นมนุษย์ ฉันฝากถึงเพื่อนร่วมรุ่นที่รักทุกคน ถ้าในอนาคตมีคนพูดกับคุณว่า เธออย่าสะเออะมาเป็นนักศีลธรรม     รู้จักปรับตัวเข้าสังคมบ้าง เมื่อเวลานั้น เธอก็ควรจะมีความกล้าหาญที่จะตอบว่า ก็ฉันไม่เหมือนคุณนี่ ฉันไม่ได้มาเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าสังคม ฉันมาเพื่อมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคม

อาหารสมอง” จานที่สองเป็นสิ่งที่เราประสบกับตัวเองทุกวัน อาหารจานนี้จะช่วยให้ได้หยุดคิดและทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น ขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ผู้เขียนในข้อเขียนชื่อ “ภาวะอัตตาเป็นพิษ

  1. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะไม่ทันนึกถึงใจคนอื่น
  2. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะอยากให้ทุกอย่างได้ดั่งใจ
  3. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะขาดการใส่ใจสิ่งรอบตัว
  4. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต เมื่อถูกกระทบตัวตน จะยอมรับได้ยาก
  5. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะรู้สึกว่าความคิดเราเท่านั้นที่ถูกต้อง
  6. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาก เวลาไม่ได้รับความสำคัญ
  7. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะแค้นเคืองรุนแรงเวลาถูกขัดใจหรือทำให้เสียหน้า
  8. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะเห็นความต้องการของตนเองสำคัญกว่าคนอื่น
  9. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะรู้สึกว่าตนเหนือกว่าคนอื่น (รวมทั้งความรู้สึกว่าตนดีกว่า / ถูกต้องกว่า / เก่งกว่า)
  10. เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โต จะยิ่งยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง  ประหนึ่งตนเองเป็นดวงอาทิตย์ในระบบสุริยจักรวาล ทุกคนและทุกสิ่งกลายเป็นบริวารที่ต้องหมุนรอบตน เมื่ออัตตาตัวตนใหญ่โตทำให้เกิดภาวะอัตตาเป็นพิษได้ง่ายขึ้น

อาการอัตตาเป็นพิษ :
ใจจะยิ่งเปราะบาง
ใจจะยิ่งแตกสลายง่ายขึ้น
ใจจะโกรธเคืองสิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้น
ใจจะรู้สึกเสียหน้าง่ายขึ้น
ใจจะยอมรับสิ่งต่าง ๆ ยากขึ้น
ใจจะยิ่งสั่นสะเทือนง่ายมากขึ้น
ใจจะยิ่งแสบร้อนเจ็บปวดง่ายขึ้น

ทางแก้ภาวะอัตตาเป็นพิษ :

  • เริ่มจากความเข้าใจธรรมชาติของใจกับการมีตัวตน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยไม่ใช่ความผิดหรือเป็นคนไม่ดีอะไร
  • การหมั่นเท่าทันธรรมชาติของใจที่มีตัวตนเป็นโอกาสที่ช่วยให้ความมีตัวมีตนเบาบางลง ลดการเกิดอัตตาตัวตนใหญ่โต
  • หมั่นรู้เท่าทันความมีตัวมีตนบ่อย ๆ อาการอัตตาเป็นพิษจะยิ่งค่อย ๆ ลดลง
  • หมั่นฝึกเห็นโลกตามความเป็นจริงว่า “โลกนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อได้ดั่งใจเรา” อาการทรมานใจจากอัตตาเป็นพิษจะลดลง    
  • ทุกครั้งที่มีอาการแสบร้อนขึ้นในใจ คือ สัญญาเตือนว่า “อาการอัตตาเป็นพิษ” กำลังเกิดขึ้น กลับมารับรู้อาการแสบร้อนที่เกิดขึ้น ด้วยความเปิดใจด้วยความเข้าใจ และส่งพลังความรักความเมตตาโอบกอดใจที่กำลังเจ็บปวดแสบร้อนจากภาวะอัตตาเป็นพิษนั้น แล้วความแสบร้อนจะลดลง ความอบอุ่นใจจะเกิดขึ้นแทน

สวัสดีปีใหม่ครับ ขอฝาก “อาหารสมอง” สองจานนี้ไว้ย่อยตลอดปีใหม่ 2566 ด้วยครับ