ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ใจของคนไทยที่ห่วงใยเศรษฐกิจปีหน้าตอนนี้อยู่ที่การลุ้นว่าการท่องเที่ยวไทยจะไปได้ดีเพียงใดจากหลักฐานที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และจำนวนนักท่องเที่ยวของปีหน้า

คำถามที่น่าสนใจก็คือภาคการท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการสร้าง GDP 16% ต่อปี  แต่เหตุไฉนจึงมีความสำคัญขนาดนั้นได้

         ก่อนตอบคำถามนี้ขอกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมก่อนสักเล็กน้อยโดยไม่ขอพูดถึงความเสียหายของเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 ให้ช้ำใจ   

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัว 6.2%      ปี 2564 ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นขยายตัว 1.5%   และในปี 2565 ในช่วง 9 เดือนแรกเศรษฐกิจขยายตัว 3.1%  และทั้งปีตามที่สภาพัฒน์ฯ พยากรณ์น่าจะเป็น 3-4% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ  

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนก็คือการลงทุนจากภาครัฐ   การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและที่สำคัญการส่งออก   

ถ้าดูองค์ประกอบด้านการผลิตที่ทำให้เศรษฐกิจ 2565 ไปได้น่าพอใจในระดับหนึ่งก็คือการเจริญเติบโตของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง     

ส่วนด้านการผลิตที่ขยายตัวการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (ในไตรมาส 3 ขยายตัวมากสุดถึง 53.6%)   สาขาการส่งขายปลีกและการซ่อมฯ   สาขาการขนส่ง   และสาขาการไฟฟ้า   ก๊าซ  ฯ

บทบาทของการท่องเที่ยวสะท้อนในรูปของการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน     การส่งออก(ภาคบริการ)    ส่วนทางด้านการผลิตสะท้อนให้เห็นในสาขาพักแรม     ขายส่งขายปลีก     การขนส่ง     การไฟฟ้า    ฯลฯ   

ประเด็นสำคัญก็คือ ภาคนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านความรวดเร็ว  เหมือนฤทธิ์ยาเสพติดที่พุ่งขึ้นสู่สมองทันทีที่นักท่องเที่ยวเอาเงินตราต่างประเทศออกมาขายเพื่อซื้อเงินบาท 

(แลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งเงินตราต่างประเทศที่ขายก็จะอยู่ในมือของสถาบันการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทยในที่สุด)

ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ปริมาณเงินบาทในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น    อำนาจซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นทันที และก็จะกลายเป็นรายได้ของผู้อยู่ในภาคท่องเที่ยว   โดยจะเปลี่ยนมือกันหลายครั้ง (“รายจ่ายของคนหนึ่งจะเป็นรายได้ของอีกคนหนึ่ง”)   รายได้ของหลาย ๆ คนก็จะเพิ่มขึ้น

         ธุรกิจท่องเที่ยวเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่กระจายอยู่ไปทั่ว    ธุรกิจทุกขนาดในทุกพื้นที่ในทุกลักษณะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการธุรกิจที่เกิดขึ้น    

ตัวอย่างเช่นนักท่องเที่ยวจ่ายเงินซื้อบริการ  ที่พัก    อาหารและเบ็ดเตล็ด   แทบทุกธุรกิจในพื้นที่ได้อานิสงส์แม้แต่คนขายดอกไม้หน้าวัด คนท้องถิ่นนำทางไปเดินป่าหรือตกปลา  คนผลิตของที่ระลึกที่อยู่ในหมู่บ้านไกลออกไป   คนให้เช่าจักรยาน  ฯลฯ  

            สำหรับภาคอุตสาหกรรม    ภาคเกษตรผลิตแหล่งอาหาร   ภาคการเงิน และบริการอื่น ๆ นั้น  ปีหน้าก็มีประเด็นท้าทายไม่น้อยนับตั้งแต่  

(ก)  เศรษฐกิจโลกถูกกระทบจากสงครามยูเครน  

(ข)  ราคาพลังงาน   ค่าครองชีพ    ราคาอาหาร    อัตราดอกเบี้ย   อัตราเงินเฟ้อ    ความไม่แน่นอนของธุรกิจการเงิน  

(ค)  วิกฤตโลกร้อนและความปั่นป่วนของธรรมชาติ  

(ง)  การเผชิญหน้าของสองยักษ์โลกทางการเมืองและเศรษฐกิจ  

(จ)  ความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกจนประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง 

(ฉ) การระบาดของโควิด-19 ที่อาจไม่จบ    ฯลฯ

ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

            สิ่งที่หวาดหวั่นกันก็คือ การตกต่ำของเศรษฐกิจโลกและการท่วมท้นของหนี้ต่างประเทศของหลายประเทศ เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทบการคาดหวัง   บั่นทอนอำนาจซื้อ   

อาจทำให้การส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศประสบปัญหาอันจะมีผลไปสู่ภาคการท่องเที่ยวได้ เพราะคนมีเงินมาท่องเที่ยวน้อยลง  

             เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปีนี้  การฟื้นตัวของภาคอื่น ๆ นั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่ทันใจเพราะต้องใช้เวลาและมีผลกระทบกันไปมาจนยากที่จะพยากรณ์ได้แน่ชัด     

แต่ภาคการท่องเที่ยวดูจะเป็น           “ภาคจี๊ด” เดียวที่หวือหวาตอบรับต่อมาตรการของรัฐได้อย่างทันที  สามารถฟื้นตัวได้เร็ว  และมีผลต่อผู้คนได้อย่างทันใจ   

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลกระทบต่อการสร้างธุรกิจและการจ้างงานอย่างเห็นผลทันตา     มีผลด้านจิตวิทยาต่อผู้คนที่เดือดร้อนเรื่องเงินทองมาเกือบ 3 ปี  ผลกระทบของภาคการท่องเที่ยวโดยรวมจึงมีมากกว่าตัวเลข 16% ที่ว่ามีส่วนร่วมในการสร้าง GDP อย่างแน่นอน

ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

สถิติการท่องเที่ยวไทยในปีนี้นับแต่มกราคมถึงธันวาคมมีนักท่องเที่ยวแล้ว 7.2 ล้านคน    ซึ่งเชื่อว่าจะถึงเป้าหมาย 10 ล้านคนในกลางเดือนธันวาคม (ขณะนี้เฉลี่ยเข้าประเทศวันละ 60,000 คน)   

ถ้าโรคระบาดบรรเทาลงจนเกือบจบ   ปีหน้าคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 18-23 ล้านคน (หากคนจีนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อท่องเที่ยวได้ ) ที่น่ากังวลคือถ้าเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปีหน้าจริงก็อาจทำให้คนมุ่ง “ท่องเที่ยว      ล้างแค้น”  มีจำนวนน้อยลงโดยดีมานด์ของ “พวกล้างแค้น” นี้อาจหมดไปเสียก่อนตั้งแต่ต้นหรือครึ่งปีหน้า

         ขอให้สถิติตัวเลขท่องเที่ยวของปี 2019 ก่อนโควิดเพื่อเอาไว้เทียบเคียง  

(1) ปี 2015  ไทยมีนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน   ปี 2019 มี 39.8 ล้านคน  

(2) ในยอดเกือบ 40 ล้านคน ประกอบด้วย   คนจีน 11 ล้านคน  / มาเลเซีย 4.3 / อินเดีย 1.96 / เกาหลี  1.88 / ลาว  1.86 / ญี่ปุ่น  1.79  /  รัสเซีย 1.48  / สิงคโปร์  สหรัฐอเมริกา  ฮ่องกง  เวียดนาม   อังกฤษ  กัมพูชา ประเทศละหนึ่งล้านคนเศษ  / 

เจ็ดถึงแปดแสนคนคือ  เยอรมัน  ไต้หวัน  ออสเตรเลีย  ฝรั่งเศส  อินโดนีเซีย  /  ส่วนฟิลิปปินส์ และเมียนมา ประมาณประเทศละ 400,000 คน

มกราคมถึงสิงหาคม 2022 สถิตินักท่องเที่ยว (1) มาเลเซีย  640,000 คน (2) อินเดีย 455,000  (3) สิงคโปร์ 243,000 (4) เวียดนาม อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ประมาณประเทศละ 200,000 คน   (5)  ลาว    เขมร    ออสเตรเลีย    เยอรมัน    ฝรั่งเศส    ญี่ปุ่น  ประมาณ  130,000-170,000 คน     

ท่องเที่ยว“ภาคจี๊ด เศรษฐกิจไทย” | วรากรณ์ สามโกเศศ

            สำหรับสถิติของเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2022 นั้น  นักท่องเที่ยวรัสเซีย   มาเลเซีย   ลาว    กัมพูชา   สิงคโปร์   จะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ   ในปี 2019 นักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยใช้จ่ายเงินคนละ 5,172 บาท/วัน     พักโดยเฉลี่ย 9 วัน    

เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ธุรกิจร้อนแรงสุด   ในเดือนธันวาคม 2019 ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเกือบ 4 ล้านคน

          ในโลกที่เน้นเศรษฐกิจซึ่งให้ความยั่งยืนและความสมดุลกับธรรมชาติ     การมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขของนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวทำให้เกิดความเอนเอียงที่เป็นปรปักษ์กับความยั่งยืน    การมองการท่องเที่ยวในภาพรวมบนพื้นฐานของความยั่งยืน   เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับยุคสมัย.