“เฉลิมชัย” คิกออฟโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 7,255 ตำบลทั่วประเทศ

“เฉลิมชัย” คิกออฟโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 7,255 ตำบลทั่วประเทศ

“เฉลิมชัย” คิกออฟโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน 7,255 ตำบลทั่วประเทศ “อลงกรณ์” ออกสตาร์ท จ.เพชรบุรี เป็นจังหวัดแรก จับมือผู้ว่าฯ ผนึกศูนย์ AIC รวมพลังทุกภาคส่วนเดินหน้าเต็มสูบสร้างศักยภาพใหม่ของตำบลหมู่บ้านแบบยั่งยืน

ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยวันนี้ (20 ก.ย) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบล ใน 76 จังหวัด 

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อพก.) ได้ดำเนินการร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลแล้ว นอกจากนี้ยังได้รับรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าว จากนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ว่าได้เริ่มการประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารและการขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล

 ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีที่ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก ถือเป็นการคิกออฟโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ซึ่งเป็นกลไกการปฏิรูปภาคเกษตรครั้งสำคัญของประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ และมอบนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลของจังหวัดเพชรบุรี ณ ห้องประชุมคณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และรูปแบบออนไลน์ผ่าน Zoom Cloud Meeting 

โดยมี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดร.วนิดา มากศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้อำนวยการศูนย์ AIC จังหวัดเพชรบุรี เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ นายอำเภอเกษตรอำเภอ นายกและสมาชิกอบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร ศพก. เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer )

เกษตรปราดเปรื่องวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มแม่บ้านเกษตร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีทีมงานเพชรบุรีโมเดล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร เข้าร่วมประชุม โดยมีนางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เป็นฝ่ายเลขานุการ 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการขับเคลื่อน คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลครอบคลุม 7,255 ตำบล ใน 878 อำเภอ และ 76 จังหวัด เป็นครั้งแรกของประเทศ ควบคู่กับโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองเพื่อสร้างฐานใหม่ที่เข้มแข็งในการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับท็อปเทนของโลก ในฐานะมหาอำนาจทางอาหารและครัวของโลก 

ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 13 ของโลก โดยจัดประชุมสร้างการรับรู้แนวทางการบริหารจัดการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน และเพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ในระดับฐานรากเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชนตำบลหมู่บ้านและแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน 

ภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน 5 สาขา คือเกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน มีภารกิจ 2 ประการ คือ 

  1. เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
  2. พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ด้วยการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่เกษตรมูลค่าสูง

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ เกษตรตำบลอบต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนประชาสังคมและอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นแกนหลักร่วมกับตัวแทนภาคเอกชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในหมู่บ้านตำบลเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ (SCD) และคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด (SCP) และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด

โดยคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล มีหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแบบยั่งยืนระดับตำบล ภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ เช่น 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน 1 ตำบล 1 โครงการเกษตรอินทรีย์ 1 ตำบล 1 ศูนย์บริการจัดการดิน-ปุ๋ยชุมชน 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัย(Green Shop) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 1 ตำบล 1 สตาร์ทอัพเกษตร  1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน (product champion) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 1 ตำบล 1 เกษตรแปลงใหญ่ 1 ตำบล 1 ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) 1 ตำบล 1 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์AIC 1 ตำบล 1 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น (ประมงทะเลหรือประมงน้ำจืด) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 1 กลุ่มปศุสัตว์ 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 1 เกษตรสุขภาพ 1 เกษตรท่องเที่ยว 1 โครงการอาหารแห่งอนาคต (แมลง ผำ สาหร่าย แหนแดง) 1 โรงเรียนสีเขียว ( Green School ) 1 วัดสีเขียว(Green Temple) และศูนย์ความรู้เกษตร (Agriculture Knowledge Center) เป็นต้น 

เพื่อปักหลักวางหมุดหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ รมว.เกษตรฯ ได้แก่ 

1. ตลาดนำการผลิต

2. เทคโนโลยีเกษตร4.0

3. เกษตรปลอดภัย เกษตรยั่งยืน เกษตรมั่นคง 

4. การบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วน

5. เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่

นายอลงกรณ์ได้มอบแนวทางในการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล จังหวัดเพชรบุรีในระยะตั้งต้นไว้ 6 ประเด็น ดังนี้ 

1. จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล โดยอบต. จัดสถานที่มีเจ้าหน้าที่ของอบต. ที่ทำหน้าที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ เป็นผู้ดูแลและมีอาสาสมัครที่สรรหาในตำบลช่วยปฏิบัติงาน

2. จัดให้มีสภากาแฟเกษตรกรรมยั่งยืนประชุมเดือนละครั้งเป็นเวทีปรึกษาหารือไม่เป็นทางการ

3. คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลควรประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วง 6 เดือนแรก จากนั้นประชุมทุก 2 เดือน

4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนก่อนหมดหน้าที่

5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

6. การจัดทำระบบฐานข้อมูล ซึ่งหวังว่า กลไกนี้จะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถยกระดับอัพเกรดให้แก่ภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ทางด้านนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้กล่าวเสริมว่า จังหวัดเพชรบุรี พร้อมสานต่อนโยบายขับเคลื่อนเมืองเสบียงแห่งอาหาร สู่โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล เน้นประโยชน์ของพื้นที่เป็นหลัก 

ซึ่งแต่ละตำบลดูจุดแข็งของตำบลทั้งด้านปศุสัตว์ ประมง พืช สมุนไพร ผลไม้ รวมทั้งให้ความสำคัญด้านชลประทาน และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะดำเนินการทั้งในระดับจังหวัด หรือเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด ที่ต้องทำงานร่วมกันเพิ่มศักยภาพพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันโดยสามารถเสนอโครงการและแผนงานจากงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้