BA คาดปี 64 ขาดทุนลดลง เชื่อธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

BA คาดปี 64 ขาดทุนลดลง เชื่อธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

“บางกอกแอร์เวย์ส” คาดปี 64 ขาดทุนลดลงจากปีก่อนที่ 5.2 พันล้าน เชื่อเป็นจุดต่ำสุด-ทยอยฟื้นปี 65 หวังรัฐบาลคุมสถานการณ์โควิด หนุนเปิดประเทศไตรมาส 4/64 ยันสภาพคล่องเพียงพอ ไม่ต้องเพิ่มทุน

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” เปิดเผยว่า บริษัทประเมินผลการดำเนินงานในปี 2564 มีโอกาสขาดทุนลดลงจากปี2563ที่มีผลขาดทุน 5,283.18 ล้านบาท เนื่องจากคาดสถานการณ์ธุรกิจสายการบินผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดหวังรายได้จะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าการที่บริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันที่ลดลงกว่า 80% จากภาวะปกติ

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 บริษัทเตรียมกลับมาเปิดเส้นทางบินต่างประเทศเพื่อสนับสนุนนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการสมุยพลัสโมเดล ขณะที่ 5 เส้นทางบินในประเทศที่บริษัทประกาศยกเลิกเป็นการชั่วคราวถึง 31 ก.ค. จะต้องพิจารณาสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง โดยยืนยันว่าบริษัทมีความพร้อมให้บริการผู้โดยสารอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่การระบาดยังสูงจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารชาวยุโรป คาดหวังการเปิดประเทศในไตรมาส 4 ปี 2564 จะส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนทยอยเดินทางกลับเข้ามา อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการควบคุมโรคของไทยด้วย ซึ่งจะต้องทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความมั่นใจที่จะเดินทางกลับเข้ามา ขณะที่นโยบายควบคุมโรคระบาดในภูมิภาคยุโรปและในภูมิภาคอื่นๆ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อสอบถามถึงสภาพคล่องและความจำเป็นต้องเพิ่มทุน นายอนวัช กล่าวว่า BA ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน จากปัจจุบันบริษัทยังมีสภาพคล่องเพียงพอจากสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ อย่างในกรณีล่าสุดที่บริษัทยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวกับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะช่วยให้ภาระที่มีต่อกองทุนรวมลดลง และยังช่วยให้การดำเนินงานสามารถทำได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ส่วนแผนการลงทุนระยะยาวในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นแผนแม่บทให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการจะมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแผนส่งกลับมาเร็วๆ นี้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะทันภายในปี 2564