ธปท.หวั่นโควิดฉุด GDP แนะรัฐออกมาตรการการเงิน-การคลังรับมือให้เพียงพอ

ธปท.หวั่นโควิดฉุด GDP แนะรัฐออกมาตรการการเงิน-การคลังรับมือให้เพียงพอ

แบงก์ชาติหวั่นสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงและลากยาวเกินคาด ทำให้ต้องล็อกดาวน์นานขึ้น ฉุดเศรษฐกิจปีนี้ทรุด 0.8-2% จับตาสาธารณสุขวิกฤติ ภาคการผลิตชะงัก แนะรัฐออกมาตรการการเงิน-การคลังรับมือให้เพียงพอ ขณะที่สำนักวิจัยเอกชนแห่หั่นเป้าจีดีพี

อีไอซี-เคเคพีหั่นจีดีพี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประกาศปรับประมาณการจีดีพีไทยปีนี้ลงจากเดิม 1.9% มาอยู่ที่ 0.9% เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก 

ทั้งจากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และและแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมายังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

บริโภคหดตัว 7.7 แสนล้าน

อีไอซี ประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนจะถูกกระทบค่อนข้างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนฟื้นตัวอย่างช้าๆในช่วงปลายปี โดยการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าแผน และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง จึงทำให้คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพ.ย. ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือนตั้งแต่มีการระบาดในเดือน เม.ย. จากเดิมที่คาดว่า 4 เดือนคุมอยู่ โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท

โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก แม้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคบางส่วนจะหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน 

ส่งออกช่วยพยุง 

สำหรับแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังเป็นการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัว 15% แต่ส่งออกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิด ซัพพลาย ดีสรัปชั่น ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในภาพรวม แม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้าง แต่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 

ส่วนการเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะยังไม่สามารถช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้มากนักในปีนี้ ภายใต้ภาวะการระบาดที่รุนแรงขึ้น โดยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่างภูเก็ต แซนด์บอกซ์ และ สมุย พลัส จะมีข้อดีด้านการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดีการเปิดรับนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้มากนักในปีนี้ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทยยังมีนโยบายการเปิดเดินทางเข้าออกประเทศที่ค่อนข้างระมัดระวังจากความกังวลของการระบาดสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับสถานการณ์ระบาดในไทยที่ปรับแย่ลง ก็มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวกังวลที่จะเดินทางเข้าไทย จึงทำให้อีไอซี จึงปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เหลือ 3 แสนคน จากเดิมคาด 4 แสนคน

คาดรัฐอัดฉีดเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท

ด้านมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการเยียวยาควบคู่ไปกับมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐที่ออกมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอทั้งในเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และปริมาณเงินรวม 

อีไอซีคาดว่า ในกรณีฐาน ภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอย่างน้อยอีกราว 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นใช้เม็ดเงินจาก พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้ และภาครัฐอาจพิจารณาการใช้จ่ายเพิ่มเติมหากการระบาดยืดเยื้อกว่าที่คาด ทั้งนี้มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัด ได้แก่ 

1.มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ 2.มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

เคเคพีหั่นจีดีพีโตแค่ 0.5% 

ด้าน KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อาจมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน การระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้อาจจะไม่สามารถจบได้เร็วแบบเดียวกับปีก่อน ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นช้า นโยบายจำนวนการตรวจโรคที่เป็นข้อจำกัดที่อาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความจริง และสัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้มมีน้อยมากจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำได้ช้าและวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันต่อเชื้อเดลต้าต่ำ

ทั้งนี้ มองว่าการระบาดระลอกปัจจุบันของไทยจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือนกว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 และจะส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบต่อการคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ลดลงจาก 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม