ไม่ 'ล็อกดาวน์' เปิดเงื่อนไข 'เดินทางข้ามจังหวัด' ต้องทำอย่างไร?

ไม่ 'ล็อกดาวน์' เปิดเงื่อนไข 'เดินทางข้ามจังหวัด' ต้องทำอย่างไร?

เช็ครายละเอียด "เดินทางข้ามจังหวัด" ในสถานการณ์ควบคุมการระบาด "โควิด-19" ที่ปรับมาตรการใหม่ตามประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 โดยมีพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด

หลังจากมีประกาศ  ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) เพื่อควบคุมการระบาด "โควิด-19" ในพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ทำให้หลายคนสงสัยว่ายังสามารถ "เดินทางข้ามจังหวัด" ได้หรือไม่?

แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเช็ครายละเอียดกันอีกครั้ง ที่นี่

1. ไม่ "ล็อกดาวน์" สามารถ "เดินทางข้ามจังหวัด" ได้

ตามประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 มีสาระสำคัญคือ มีการปรับโซนพื้นที่ควบคุมคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จากเดิม 4 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด ประกอบด้วย กทม., นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลออกมายืนยันว่า การปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่ใช่การ "ล็อกดาวน์" และประชาชนยังสามารถ "เดินทางข้ามจังหวัด" ได้ เพียงแต่หากไม่มีความจำเป็น ก็ขอความร่วมมือลดการเดินทางข้ามจังหวัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. เปิดเงื่อนไข "เดินทางข้ามจังหวัด" 4 จังหวัดภาคใต้

ในรายละเอียดตามประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง เอาไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางอย่างน้อย 30 วัน 

เส้นทางเข้าออกจังหวัดชายแดนใต้ : นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

ให้ตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด คนเดินทางเข้าออกต้องแสดงเอกสาร คือ 1)บัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ  2)เอกสารรับรองความจำเป็น ที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

3. เปิดเงื่อนไข "เดินทางข้ามจังหวัด" กทม.-ปริมณฑล

กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางอย่างน้อย 30 วัน เช่นกัน

เส้นทางเข้าออก กทม.และปริมณฑล : กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร

ให้ตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้าย "แรงงาน" เพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัด ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาต (มีเอกสารรับรอง) ให้เดินทางเพื่อทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทาง 

ส่วนประชาชนที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชน และต้องไม่ก่อความเดือดร้อนเกินสมควรแก่เหตุ

ดังนั้น สำหรับประชาชนทั่วไป วิธีการเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ให้พกบัตรประชาชนไปด้วย ไว้แสดงตัวตนขณะผ่านด่านตรวจคัดกรอง และล่าสุด.. มีรายงานว่าให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ที่ต้องการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้กรอกข้อมูลคัดกรองผ่านแอพฯ "BKK COVID-19" ด้วย มีขั้นตอนดังนี้

1. สแกน QR CODE

2. กรอกแบบฟอร์มข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ ระบุเพศ และสัญชาติ

3. กรอกข้อมูลการเดินทาง อาทิ เดินทาง ระบุการเดินทางเที่ยวเดียวหรือไปกลับ พร้อมเหตุผลความจำเป็น จากนั้นแสดงข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านคัดกรอง

อ่านเพิ่ม : 'เดินทางข้ามจังหวัด' ออกจากกรุงเทพฯ มีขั้นตอนอย่างไร

162494387886

4. เปิดเงื่อนไข "เดินทางข้ามจังหวัด" จังหวัดอื่นๆ 

ส่วนเส้นทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ : ให้มีการตั้งด่านตรวจ และดำเนินการอย่าง เข้มงวด กรณีพบผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) โดยให้แต่ละจังหวัดปลายทางออกข้อกำหนดและประกาศใช้ 

อัพเดทล่าสุด..  มีการประกาศข้อกำหนดการเดินทางข้ามจังหวัดของ "จ.เชียงใหม่" ออกมาแล้ว ระบุว่า ผู้ว่าฯ ​เชียงใหม่​ สั่งการตั้งด่านคัดกรอง​ผู้เข้าสู่จังหวัด​เชียงใหม่สกัดโควิดระบาดในพื้นที่ ​พร้อมมีการยกระดับด่านคัดกรอง ย้ำว่า ผู้ที่จะเดินทางมาจาก 10 จังหวัด​พื้นที่​สีแดงเข้ม จะต้องลงทะเบียน​​ “cm chana” ทุกกรณี​ รวมถึงกักตัวอยู่ในที่พัก 14 วัน ตามประกาศ​มาตรการ​ของคณะกรรมการ​โรคติดต่อ​จังหวัด​เชียงใหม่

อ่านเพิ่ม :  'เชียงใหม่' อัพเดท 10 จังหวัด 'สีแดงเข้ม' เดินทางเข้าเชียงใหม่ ต้องทำตามนี้