แบงก์เรียกถกด่วน มาตรการอุ้มลูกหนี้ ฝ่า“โควิด”รอบใหม่

แบงก์เรียกถกด่วน มาตรการอุ้มลูกหนี้  ฝ่า“โควิด”รอบใหม่

แบงก์ตั้งท่าช่วยลูกหนี้ ลดผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ธนาคารกรุงเทพประเมินรอบนี้ลากยาว ขณะที่กรุงศรีฯจ่อออกมาตรการช่วยแบบจำกัดพื้นที่เสี่ยง ด้านสมาคมธนาคารเตรียมถกแบงก์ชาติงัด 3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี จ่อดึงซอฟท์โลนช่วยฟื้นฟูธุรกิจ

      นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBLกล่าวว่า ธนาคารเตรียมหารือเพื่อรับมือกับโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้น รวมถึงแผนการช่วยลูกค้าของธนาคาร ว่าจะมีอะไรที่สามารถออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่เพราะเชื่อว่า โควิด-19 รอบใหม่ครั้งนี้ สถานการณ์อาจหนักกว่ารอบแรกการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

     ขณะเดียวกันไม่สามารถคาดการณ์การแพร่ระบาดได้ว่าขยายวงกว้างมากน้อยแค่นั้น ดังนั้นผลกระทบก็อาจมากกว่ารอบแรก

    ดังนั้นในมุมแบงก์ ก็คงต้องรีบหามาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากมาตรการที่เคยมีอยู่แล้วที่ทำไว้รอบแรกขณะเดียวกันแบงก์ก็คงต้องรอดูนโยบายจากธปท.เช่นเดียวกันว่าจะมีการกำหนดหรือประกาศมาตรการ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการกลาง เหมือนโควิด-19รอบแรกหรือไม่ เพื่อนำมาใช้ประกอบการออกมาตรการและดูแลลูกหนี้แบงก์ในระยะข้างหน้า

    “ต้องดูมาตรการจากแบงก์ชาติด้วยว่ามีนโยบายอย่างไร หรือนโยบายการจัดชั้นหนี้ของแต่ละกลุ่มลูกหนี้เพิ่มเติมอย่างไร เพื่อไม่ให้ผลกระทบต่อระบบมากนัก แต่เราคิดว่ารอบนี้หนักกว่ารอบแรก เพราะผู้ป่วยเยอะ การแพร่กระจาย ดับเบิลขึ้นต่อเนื่อง”

กรุงศรีพร้อมช่วยพื้นที่เสี่ยง

    นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ล่าสุดกรุงศรีคอนซูมเมอร์มีการหารือกันภายในเช่นเดียวกัน เพื่อวางแผนมาตรการต่างๆในการลดผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีต่อลูกหนี้ของกรุงศรีฯซึ่งมองว่า มาตรการที่กรุงศรีคอนซูมเมอร์จะทำรอบนี้ คงต้องเป็นมาตรการที่สามารถทำได้เร็ว เพราะหากผลกระทบลากยาวถึงสิ้นม.ค. ผลกระทบที่มีต่อลูกหนี้อาจมีมากขึ้น

    ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือการไปคิดมาตรการที่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอสถานการณ์ยืดเยื้อ เพราะเบื้องต้น เห็นผลกระทบชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่ถูกสั่งให้ปิดเพื่อป้องกันโควิด-19

    โดย การไปหารือหรือนำมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว โดยคาดว่ามาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่อยู่เคยใช้มาแล้วในการระบาดของโควิด-19 รอบแรก เช่นการพักหนี้ ให้ชำระเฉพาะเงินต้น หรือดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ที่มีการวางระบบไว้แล้ว

    ทั้งนี้การนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ ครั้งนี้ก็คงแตกต่างจากรอบที่ผ่านมา เพราะการดีไซน์มาตรการอาจจะมีความแตกต่างกัน ให้เหมาะกับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ประเมินจากพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ได้เป็นมาตรการทั่วไป เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

    “มาตรการที่ทำรอบนี้ ต้องทำได้เร็ว ไม่ซับซ้อน เพื่อลดผลกระทบลูกหนี้มากที่สุด และรอบนี้เราอาจพิจารณาไปถึงการใช้บัตรลูกหนี้ด้วย อาจต้องปิดการใช้บัตรสำหรับลูกหนี้ที่ดูไปไม่ไหว เพราะหากเราปล่อยไว้ ให้บัตรยังเดิน สำหรับกลุ่มที่ไม่ไหว หนี้ก้อนใหม่ก็จะมาเรื่อยๆสุดท้ายก็ไปไม่รอด”

สมาคมแบงก์ถกธปท.อุ้มลูกหนี้

     แหล่งข่าวจากวงการเงิน เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ เพราะมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ออกมา ยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงและเสี่ยงที่จะยืดเยื้อ

    ขณะเดียวกันความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจ การช่วยเหลือแบบทั่วไปจะเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด อีกทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศยังคงอ่อนแอ โครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจเปลี่ยนไปหลังเกิดวิกฤติโควิด-19

    ในเบื้องต้น มี 3 มาตรการ หรือ Pillars ที่จะออกมาใช้ในการบริหารจัดการภาคธุรกิจและภาคการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน มาตรการแรกคือ คือการตั้ง Restructuring หรือการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารสินทรัพย์ โดยการจัดตั้ง National Warehousing Fund , Specific purpose AMC เพื่อบริหารหนี้เสียลดภาระของสถาบันการเงิน

    มาตรการที่ 2 คือ Revive สนับสนุนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ โดยเพิ่มสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ในการเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ, ให้ Supply chain loan, ตั้ง Credit Mediator หรือตัวกลางทางเครดิต

   มาตรการที่ 3 คือ Reform สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มปรับโครงสร้างธุรกิจ เช่นสินเชื่อ New S-Curve และ Matched Supply Chain

ดึงซอฟท์โลนฟื้นธุรกิจเล็ก

    หากเจาะลึกในด้านมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการที่ 2 หรือการสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ หลักการคือ ดึงซอฟท์โลนของธปท.บางส่วน เพื่อนำไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเบื้องต้นมีการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของ เอสเอ็มอีที่มีโอกาสได้ซอฟท์โลนภายใต้มาตรการนี้

    โดยเอสเอ็มอีที่เคยถูกปฏิเสธสินเชื่อทั้งจำนวน หรือบางส่วน ถูกปฏิเสธการปรับโครงสร้าง (IRE) ได้สินเชื่อ แต่มีเงื่อนไขในการชำระคืนที่เข้มงวดเกินไป และเอสเอ็มอีที่มีการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินไปแล้ว แต่ต้องตอบคำตอบจากสถาบันการเงินเป็นเวลานานจนเกินสมควร

   ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจ จะมีการตั้ง “ตัวกลางทางเครดิต” หรือ Credit Mediator ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างข้อมูล และส่งต่อข้อมูลของเอสเอ็มอีไปให้สถาบันการเงิน นำไปประเมินสินเชื่อผ่านการประสานให้เกิดการเจรจาระหว่างสถาบันการเงินและธุรกิจ

    รวมถึงการให้คำแนะนำธุรกิจในการจัดทำข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อ และสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินเครดิตอิสระ ซึ่งจะส่งผลประเมินให้สถาบันการเงิน ใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีต่อไป

    การหารือมาตรการดังกล่าว เบื้องต้นจะมีการหารือร่วมกันระหว่างสมาคมธนาคารไทย และธปท. เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อสรุปมาตรการแต่เจอการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลให้การนัดหารือระหว่าง 2 หน่วยงาน มีการยกเลิกออกไป และจะนัดอีกครั้งภายในต้นปีนี้