วิธีใช้ ‘ช้อปดีมีคืน’ เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ โค้งสุดท้าย

วิธีใช้ ‘ช้อปดีมีคืน’ เพื่อ ‘ลดหย่อนภาษี’ โค้งสุดท้าย

เปิดวิธีใช้สิทธิ์ “ลดหย่อนภาษี” ปี 2563 โค้งสุดท้าย ผ่านโครงการ “ช้อปดีมีคืน”

เหลืออีกไม่กี่วัน จะถึงสิ้นปี 31 ธ.ค. 63 ซึ่งเป็นวันหมดเขต "ช้อปดีมีคืน" สำหรับ "ลดหย่อนภาษี" สำหรับการ "ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ในปีภาษี 2563 ที่จะต้องยื่นภาษีช่วง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 64 

ก่อนจะออกไปช้อปในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมาดูหลักเกณฑ์ชัดๆ อีกทีว่า ใครสามารถใช้สิทธิในมาตรการ ช้อปดีมีคืนได้บ้าง แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ถูกต้องตามเงื่อนไข 

มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบ VAT โดยเป็นการซื้อสินค้าที่เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  •  เงื่อนไข "ช้อปดีมีคืน" ที่ต้องรู้ก่อนช้อป 

โดยมาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63 ที่จะต้อง "ยื่นภาษี" ในช่วง 1 ม.ค.-31 มี.ค. 64

แต่จะต้องซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษี VAT เท่านั้น และสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน

โดยสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ผู้เสียภาษีแต่ละคนจะได้รับสิทธิ "ลดหย่อนภาษี" จากการ "ช้อปดีมีคืน" ไม่เท่ากัน

และการขอลดหย่อนภาษีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการนำบิลค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขของโครงการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้เสียภาษีแต่ละคนจะได้รับสิทธิ ลดหย่อนภาษี มากหรือน้อย หรือไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ซื้อ และคิดอัตราภาษีคืนตามระดับ เงินสุทธิ ในแต่ละปี ตามตารางต่อไปนี้

160844125693

  •  "ช้อปดีมีคืน" ต้องซื้ออะไร ถึงจะได้ลดหย่อนภาษี? 

1) สินค้าและบริการที่ "เข้าร่วม" มาตรการ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ได้แก่ 

  • สินค้าและบริการทั่วไป
  • สินค้า OTOP
  • หนังสือ ทั้งแบบเล่ม และอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book)

2) สินค้าและบริการที่ "ไม่เข้าร่วม" มาตรการได้แก่ 

  • เหล้า เบียร์ ไวน์
  • บุหรี่หรือยาสูบ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซที่ใช้เติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เรือ
  • ซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งรูปเล่มและอิเล็กทรอนิกส์
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยว
  • ค่าที่พัก โรงแรม

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากโครงการ "ช้อปดีมีคืน" จะต้องไม่ใช้สิทธิโครงการ "คนละครึ่ง"

นอกจากนี้สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ การ "ขอเอกสาร" เพื่อใช้ในการขอลดหย่อนภาษี หมายความว่าต้องซื้อสินค้าจากร้านที่สามารถออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบจากการซื้อสินค้านั้นๆ เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นลดหย่อนภาษี

โดยเอกสารที่ต้องใช้สำหรับลดหย่อนภาษี "ช้อปดีมีคืน" ได้แก่

1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย

2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูล ของผู้เสียภาษี รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินให้ครบถ้วนด้วย

3. ซื้อสินค้า OTOP ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & eReceipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจํานวนเงินด้วย

  •  ลักษณะใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ และใบเสร็จรับเงิน ที่ใช้งานได้ 

สำหรับ "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" 

1. ต้องมีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด

2. ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

สำหรับ "ใบเสร็จรับเงิน"

ใบเสร็จรับเงิน (ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่จดทะเบียน VAT) ต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย

2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย

3. เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน

4. วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน

5. ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ

6. ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ

7. จํานวนเงิน

ที่มา: iTAX