TCEB ชูงาน MICE DAY 2024 ดันอุตสาหกรรม MICE เป็นแพลตฟอร์มเรือธงพัฒนาประเทศไทย

TCEB ชูงาน MICE DAY 2024 ดันอุตสาหกรรม MICE เป็นแพลตฟอร์มเรือธงพัฒนาประเทศไทย

“TCEB” จัดงาน “MICE DAY 2024” เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและผลักดัน 4 อุตสาหกรรมไมซ์เป้าหมายแห่งอนาคต ให้เป็นแพลตฟอร์มหลักพัฒนาประเทศไทยไปสู่จุดหมายปลายทางมูลค่าสูงของเอเชีย

วันที่ 26 เม.ย. ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงงานจัดแสดงสินค้าครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. พ.ศ. 2425 โดยพระราชประสงค์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมสินค้าไทยจากทั่วประเทศไปสู่ตลาดโลก ทำให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ครม. ได้ประกาศให้มีการจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ หรือ National MICE Day ขึ้นเป็นประจำในวันที่ 26 เม.ย. ของทุกปี

สำหรับในปีนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) เปิดเผยว่า การจัดงาน MICE DAY 2024 ที่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 อยู่ภายใต้แนวคิด “Connecting the World, Elevating the Economy: เชื่อมต่อโลกด้วย MICE ยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก” ที่มาพร้อมการนำเสนอทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จากธุรกิจการจัดงานเชิงธุรกิจไปสู่บทบาทสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

โดย TCEB ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีศักยภาพ 4 สาขา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ประกอบด้วย ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security), ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Soft Power), นวัตกรรมทางด้านสุขภาพ (Health-Tech Innovation) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Urban QOL & Mobility) ที่ถือว่าเป็นสาขาธุรกิจที่จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลกในอนาคต

ความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ก็คือจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตให้เติบโตเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางมูลค่าสูงแห่งเอเชีย (High Value-Added Destination)

นอกจากนี้ในการเปิดงาน MICE DAY 2024 ยังมีการบรรยายพิเศษจาก แดนนี เลวี (Danny Levy) ผู้จัดงาน Money20/20 Asia ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำระดับโลก พร้อมทั้งยังมีการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้บริหารระดับสูงจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ จากศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บโดย MQDC อธิบายในมุมของหัวข้อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า ผู้ลงทุนหรือผู้จัดกิจกรรมชาวต่างชาติบางส่วนมองว่าประเทศไทยเป็นมิตรและปลอดภัยกับการเข้ามาจัดงานอีเวนต์ต่างๆ รวมถึงเปิดรับความหลากหลายทางความคิด ที่สำคัญยังเดินทางเข้ามาในประเทศได้ง่าย แต่ก็ยังติดปัญหาขนส่งสาธารณะที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน และระบบการใช้เงินผ่าน QR ที่ยังไม่เชื่อมโยงผู้ให้บริการเครือข่ายในบางประเทศ 

ทางด้านรัชกฤต สงวนชีวิน จากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางด้านอาหารว่า แม้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่อีกเป็นจำนวนมากที่หันมาให้ความสนใจในการทำเกษตรกรรม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีรองรับ เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปฏิทินการเพาะปลูกออนไลน์ หรือการใช้โดรนเข้ามาช่วย

นอกจากนี้รัชกฤตยังกล่าวเสริมว่า ปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเกษตรทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางการผลิต โดยเฉพาะการใช้น้ำในการเพาะปลูก เพราะแม้ว่าจะปลูกพืชเท่าเดิม แต่ปริมาณน้ำมีน้อยลง ก็จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นตัวเช่น เช่น การปลูกอ้อยที่ลดการใช้น้ำลงถึง 30% เพราะจะใช้การนำน้ำเข้าไปทางรากโดยตรงแทน เนื่องจากการรดน้ำลงผิวดินตามปกติจะทำให้น้ำระเหยออกไปเนื่องจากอากาศร้อนจัด เรียกได้ว่าปัญหาโลกร้อนก็ถือว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารมากพอสมควร

ธนัช จุวิวัฒน์ จากบริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พูดถึงประเด็นธุรกิจสร้างสรรค์ว่า Soft Power ของไทยมีหลากหลายและสามารถส่งออกได้ผ่านคอนเทนต์ที่หลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เกม ซีรีส์ หรือดิจิทัลคอนเทนต์อื่นๆ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วธนัชเคยผลิตเกมที่เกี่ยวกับผีไทยออกไปให้สู่นานาชาติและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมองว่าของไทยและคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากได้ร่วมมือกับต่างชาติผ่านไมซ์ก็จะยิ่งทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

ด้านนายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ จากบีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และบีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท อธิบายในส่วนของนวัตกรรมทางด้านสุขภาพว่า ปัจจุบันไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของ Health and Wellness เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาหารและยาสมุนไพร รวมถึงโปรแกรมดูแลสุขภาพต่างๆ ที่มีผลทางวิทนาศาสตร์รับรอง ทำให้คาดว่าภายในปี 2027 Wellness Economy อาจเติบโตได้ถึงประมาณ 847,000,000,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 31,305,120,000,000 บาท โดยข้อมูลเศรษฐกิจเชิงสุขภาพของประเทศไทยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 340,000,000,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 12,565,890,000,000 บาท

ทั้งนี้ภายในงาน MICE DAY 2024 ประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการมองอนาคตอุตสาหกรรมไมซ์ในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ โดยจะมีโซน​นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวและแนะนำสินค้าบริการที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมตลาดไมซ์ ประกอบด้วย

1. Zero Carbon Platform เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของการจัดงาน เพื่อส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืนเต็มรูปแบบ

2. แพลตฟอร์ม EXPOINFO ศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลงานแสดงสินค้า (B2B & B2C) ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับ Interactive Dashboard ให้ผู้ประกอบการเลือกดูข้อมูลพร้อมสรุปผลเป็นแผนภูมิรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์การจัดงาน

3. BizConnect แอปพลิเคชันที่รวบรวมทุกงานอีเวนต์ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ธุรกิจอีเวนต์ ระบบจัดการอีเวนต์ และลงทะเบียนเข้างาน ที่ง่าย ครบ จบ ในแอปพลิเคชันเดียว

4. Thai MICE Connect แพลตฟอร์มที่รวบรวมฐานข้อมูล สินค้า และบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์อย่างครบครัน และพัฒนาเป็น E-MICE Marketplace ของอุตสาหกรรมไมซ์ครั้งแรกในไทย

5. MICE Lane บริการตรวจคนเข้าเมืองในช่องทางพิเศษ ณ สนามบินหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางไมซ์ และขานรับนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล

สำหรับนิทรรศการหลัก “ไมซ์ คือ แพลตฟอร์มในการพัฒนาประเทศ” แบ่งเป็น 3 โซน ผ่านมุมมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ได้แก่

1. ย้อนรอยรากฐาน สร้างไมซ์ไทย แสดงประวัติ “ไมซ์” ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีบทบาทในการสร้าง ฟื้นฟู และพัฒนาชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

2. ส่งมอบประสบการณ์ ผ่านเส้นทางสายไมซ์ โดยมีแคมเปญ “ยกทีมประชุม รุมรักเมืองไทย” ชวนผู้จัดงานและองค์กรหน่วยงานทุกภาคส่วน ออกมาจัดงานและร่วมประชุมสัมมนาทั่วประเทศ ผ่านเส้นทางสายไมซ์ 7 Themes (Soft Power Series) ที่มีอัตลักษณ์และคุณค่าของแต่ละภูมิภาค รวมทั้งแนะนำไฮไลท์งานไมซ์(Flagship Events) ในประเทศ 4 ภูมิภาค เพื่อกระจายการจัดงานและการเข้าร่วมงานไมซ์และเทศกาลต่าง ๆ ไปยังทุกภูมิภาคต่อเนื่องตลอดปี

3. มองไมซ์ไทย ผ่านวิสัยทัศน์แห่งอนาคต จัดแสดงตัวอย่างงานไฮไลต์ระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

โดย TCEB ร่วมกับพันธมิตรเป็นผู้ดึงงานและสนับสนุนงาน เพื่อผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก เช่น งานประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (UNESCO Creative City of Gastronomy Annual Conference 2024) งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และงานมหกรรมพืชสวนโลก “โคราช เอ็กซ์โป 2029” รวมถึงงาน 2026 Annual Meetings of the International Monetary Fund and the World Bank Group และงาน FIFA Congress 2024 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะมาจัดในภูมิภาคอาเซียน