ไขข้อข้องใจ ‘พ.ร.ก.กู้เงิน’ 1 ล้านล้าน กู้แล้วไปไหน ประชาชนต้องรับหนี้ด้วยไหม?

ไขข้อข้องใจ ‘พ.ร.ก.กู้เงิน’ 1 ล้านล้าน กู้แล้วไปไหน ประชาชนต้องรับหนี้ด้วยไหม?

เปิดรายละเอียด "พ.ร.ก.กู้เงิน" 1 ล้านล้านของรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" กู้ไปทำอะไรบ้าง แล้วหนี้สาธารณะ ที่กลายเป็นภาระของประชาชนจริงหรือไม่

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 มีการพิจารณาวาระเรื่องสำคัญของ ...เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งหมด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย พ.ร.ก. 3 ฉบับ ได้แก่

1. ...กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท
2. ...ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท
3. ...ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

กรุงเทพธุรกิจ” พาไปไขข้อข้องใจกรณี "พ.ร.ก.กู้เงินวงเงินล้านล้านบาท" ที่รัฐบาลจะกู้ยืมจากหลายเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งหลายคนแสดงความกังวลว่า เงินกู้เหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งของประชาชนในระยะยาวหลังจากการช่วยเหลือเยียวยาจบลง เพราะการกู้เงินของรัฐบาล คือการกู้เงินของประเทศ ที่จะเป็น "หนี้สาธารณะ" ซึ่งเท่ากับว่าเป็นหนี้ของทุกคนในชาติ

  •  รัฐกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาจากไหน? 

รัฐบาลมีเครื่องมือในการกู้เงินทั้งเครื่องมือระยะยาว เช่น การขายพันธบัตร ตั้งแต่อายุ 5-50 ปีให้นักลงทุนสถาบัน การขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชน การกู้จากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเครื่องมือระยะสั้น เช่น การออกตั๋วเงินคลัง การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูป PN หรือ Term loan ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ ก็จะกระจายการกู้เงินไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเป็นการเฉพาะ

  •  หนี้สาธารณะ เกี่ยวกับประชาชนอย่างไร 

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ความหมายของ “หนี้สาธารณะหมายถึง การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนา แต่เดิมเรามักมีความรู้สึกเกี่ยวกับการก่อหนี้ยืมสินไปในทางที่ไม่ดี ครัวเรือนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวแสดงว่าฐานะการเงินไม่ดี สังคมอาจไม่ยอมรับนับถือ ประเทศใดมีหนี้สินอยู่มากแสดงว่าฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงและอาจจะล้มละลายได้

ปัจจุบัน แนวความคิดเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป ผู้ที่ดําเนินธุรกิจเพียงเท่าที่มีทุนธุรกิจอาจไม่เจริญก้าวหน้า แต่ถ้ากู้เงินธนาคารมาลงทุนขยายกิจการตามโครงการอย่างรอบคอบแล้ว กิจการก็อาจจะเจริญก้าวหน้าจนสามารถชําระหนี้คืนและขยายกิจการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ประเทศชาติก็ทํานองเดียวกัน รัฐบาลอาจมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงิน เพื่อพัฒนาประเทศลงทุนสร้างถนนหนทางไฟฟ้า ประปา และพลังงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนขยายการลงทุนในกิจการต่างๆ ทําให้ประชาชนมีงานทํา มีรายได้สูงขึ้นเมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อชําระหนี้คืน

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้ว และกําลังพัฒนาต่างก็มีหนี้สาธารณะอยู่เป็นจํานวนไม่น้อย หนี้สาธารณะนี้เราจะมองได้ทั้ง 2 ด้าน คือเมื่อรัฐบาลยืมเงินเข้ามาก็จัดเป็นรายรับของรัฐบาลทางหนึ่ง และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระรัฐบาลก็ต้องตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อชําระหนี้การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาลจึงมีผลต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ

  •  สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หลังกู้เงิน 1 ล้านล้าน 

สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง วันที่ 31 มีนาคม 2563 ของประเทศไทย มีจํานวน 7,018,731.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.28 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,807,898.90 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 887,573.08 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 315,231.04 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 8,028.42 ล้านบาท 

159057277878

หากถามว่า เมื่อกู้ครบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว สภาวะหนี้ของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อไป แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับ ...กู้เงินของรัฐบาลในครั้งนี้ไว้ว่า

จากการประมาณการ หากต้องกู้เงินครบ 1 ล้านล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถกู้ได้ตามพ.ร.ก. ฉบับนี้ คาดว่าหนี้สาธารณะของไทย ณ 30 กันยายน 2564 จะอยู่ที่ 57.96% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ประกาศกำหนด Debt/GDP ไว้ที่ 60%

อย่างไรก็ดี Debt/GDP ที่ระดับ 60% นี้ เป็นระดับหนี้พึงมีในสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ปกติ แต่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ หากมีความจำเป็นต้องมีเงินเพื่อดูแลประชาชนและเศรษฐกิจเพื่อให้เดินต่อไปได้ และสามารถกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และอาจทำให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่โลกจะถล่ม ประเทศจะทลาย ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโต สัดส่วนดังกล่าวก็จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติ

สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะสูงที่สุด คือ 59.9% และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นประกอบกับการมีวินัยในเรื่องหนี้ที่ดี ทำให้ในปัจจุบัน หนี้สาธารณะอยู่ในระดับเพียง 41.4% ของ GDP

  •  1 ล้านล้าน เมื่อไหร่จะใช้หมด? 

อายุเฉลี่ยของหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 10 ปีกว่าๆ โดยหนี้ที่อายุยาวที่สุดคืออายุ 50 ปี ทั้งนี้ ในการชำระหนี้ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไว้ในงบประมาณทุกปี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าอัตราการชำระหนี้ที่เหมาะสมในแต่ละปี ควรจะจัดสรรงบประมาณไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณทั้งหมดเพื่อใช้ในการชำระเงินต้น

ดังนั้นการจะตอบว่าประเทศไทยจะชำระหนี้ก้อนนี้หมดเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คงไม่สามารถตอบเป็นจำนวนปีที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจดี ประเทศไทยจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น และได้รับการจัดสรรงบชำระหนี้อย่างเหมาะสม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดได้เร็วขึ้น

การที่อายุเฉลี่ยของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 10-50 ปี กลายเป็นจุดที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาตั้งข้อสังเกต โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 3 ฉบับว่า อาจกลายเป็น "พ.ร.ก.เราจะเป็นหนี้ด้วยกัน 2020" ซึ่งหมายความว่า หนี้เหล่านี้คือหนี้ของประชาชนในระยะยาว เนื่องจากจะมีการนำภาษีของประชาชนในประเทศไปใช้ในการชำระหนี้ส่วนหนึ่ง ตามข้อมูลที่ปรากฏในข้อมูลจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ว่า รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อชําระหนี้คืนได้

อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับการบริการจัดการเงินของรัฐบาลในปัจจุบันและอนาคต ที่ต้องติดตามว่าจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป