ชวนรู้! วิธีตรวจเชื้อ ‘โควิด-19’ ในไทยมีกี่แบบและต่างกันยังไง?

ชวนรู้! วิธีตรวจเชื้อ ‘โควิด-19’ ในไทยมีกี่แบบและต่างกันยังไง?

ชวนรู้วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรค "โควิด-19" และชุดตรวจเชื้อแบบต่างๆ ที่ทางทีมแพทย์ไทยใช้กันในห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลว่ามีกี่ประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร

ท่ามกลางสมรภูมิโรคระบาด “โควิด-19” ประเทศไทยยังต้องต่อสู้กับไวรัสร้ายกันอีกยาวในการควบคุมและลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ โดยเฉพาะด่านหน้าอย่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักในการตรวจเชื้อผู้ที่เข้าข่ายและยืนยันผู้ป่วย งานนี้บอกเลยว่าไม่ง่ายและต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง แต่ก็ยังไม่วายมีประชาชนบางคนไปหาซื้อชุดตรวจเชื้อมาตรวจเอง ซึ่งเรื่องนี้แพทย์ย้ำว่า ไม่ควรทำ!

เอาเป็นว่าหากคุณมีอาการป่วย และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคระบาด “โควิด-19” ต้องไปพบแพทย์และเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาถูกต้อง และได้มาตรฐาน ระดับสากล ซึ่งผู้ทำการตรวจต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรหลงเชื่อไปซื้อชุดตรวจโรคตามร้านค้าออนไลน์ เพราะไม่สามารถรับรองได้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอม และถึงแม้ว่าจะเป็นของแท้เมื่อตรวจออกมาแล้วก็ยังทำการแปลผลได้ยากอยู่ดี ประชาชนทั่วไปอาจแปลผลและสรุปผลผิดพลาดได้ง่ายๆ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้เกี่ยวกับ “วิธีการตรวจหาเชื้อ” และ “ชุดตรวจเชื้อ” ที่ทางทีมแพทย์ของประเทศไทยใช้กันนั้น มีกี่วิธี? และมีขั้นตอนการอย่างไรบ้าง? เรามีข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาสรุปให้ฟังดังนี้

1. Real-time RT PCR

วิธีแรกเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้

ดังนั้นไม่ว่าจะเชื้อไวรัสนั้นคือเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ก็สามารถตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของผู้สงสัยติดเชื้อ ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้ 

ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่างนั้น แพทย์จะทำการป้ายเอาเยื่อบุในคอ หรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก หรือนำเสมหะที่อยู่ในปอด ออกมาตรวจหาเชื้อไวรัส ซึ่งการตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท ซึ่งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจได้ฟรี!

158574315323

2. Rapid test

ส่วนการตรวจแบบ Rapid Test เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ที่สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค

ดังนั้นการใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น สำหรับชุดตรวจหากนำเข้าจากต่างประเทศราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนาชุดตรวจของไทยขึ้นมา ซึ่งจะมีราคาประมาณชุดละ 200 บาท

การตรวจแบบ Rapid Test นี้มีองค์ประกอบสำคัญก็คือ "น้ำยาตรวจเชื้อ" ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนบางคนไปหาซื้อมาตรวจเอง ในเรื่องนี้ทางทีมแพทย์ยืนยันว่า "ไม่ควรทำ" เนื่องจากน้ำยาเหล่านี้ทาง อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตจำหน่ายทั่วไป อีกทั้งหากประชาชนซื้อมาตรวจเองก็อาจจะแปลผลและสรุปผลผิดพลาด ดังนั้นจึงต้องตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น

158574315398

สำหรับรายชื่อน้ำยาตรวจเชื้อไวรัสสำหรับการนำไปใช้ตรวจเชื้อแบบ Real-time RT PCR และรายชื่อชุดตรวจแบบรวดเร็ว Rapid Test ที่ผ่านการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีดังนี้ (ดูรายละเอียดตามภาพด้านล่าง)

158574353351

158574353365

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตามหากมีวิธีการตรวจใหม่ๆ สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องคิดก่อนเสมอคือ วิธีตรวจนั้นได้ผลหรือไม่? มีความแม่นยำเที่ยงตรงหรือไม่? และได้มาตรฐานหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจประเมินชุดตรวจแบบอื่นๆ อยู่ในขณะนี้ และเนื่องจากวิธีการตรวจแต่ละวิธีจะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจ จึงต้องประเมินตามดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก

-------------------------

อ้างอิง:

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873736

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871378

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873127

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871938