กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันน้ำยาตรวจโควิด-19 เพียงพอ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันน้ำยาตรวจโควิด-19 เพียงพอ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันน้ำยาตรวจหาเชื้อเพียงพอ เล็งขยายแล็ปตรวจโควิด เตรียมนำเข้าเพิ่มเติมจากต่างประเทศ พร้อมร่วมมือนักวิจัย โรงเรียนแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งรัฐ-เอกชน ผลิตน้ำยาตรวจของไทย

วันนี้ (21 มีนาคม) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันกรมวิทย์ฯ มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อโควิด-19 ราว 50 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มให้ถึง 100 แห่ง โดยเรียงลำดับตั้งแต่พื้นที่ๆ มีผู้ป่วยมากไปถึงน้อยตามลำดับความสำคัญ และความเสี่ยง ยืนยันว่า ขณะนี้น้ำยาตรวจหาเชื้อมีเพียงพอ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ องค์การอาหารและยา ได้รับคำแจ้งมาจากบริษัทผู้นำเข้าทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา แคนาดา และยุโปรหลายประเทศที่เอาน้ำยามาให้ทดสอบ ซึ่งหลายที่ผ่านมาตรฐาน และเตรียมนำเข้า

“ทั้งนี้ จากกรณีโรงพยาบาลรามาธิบดี เกิดจากระบบที่เปลี่ยนเครื่องตรวจ ทำให้น้ำยาสกัดมีการขาดไปบางวัน และทราบว่าวันจันทร์ (23 มีนาคม) จะมีน้ำยาเข้ามาอีกจำนวนมาก โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานและส่งน้ำยาสกัดให้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ราว 1,000 เทส ขณะนี้สถานที่ตรวจมีเยอะ แต่บางครั้งความต้องการของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ ทำให้บางครั้งหน่วยบริการประเมินน้ำยาสำรองไม่เพียงพอ”

“ที่สำคัญที่อยากจะย้ำมาก คือ คนที่จำเป็นต้องตรวจ เข้าข่ายสงสัย ต้องได้รับการตรวจฟรีทุกคนเป็นนโยบาย ส่วนคนที่อยากตรวจ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็น อาจทำให้น้ำยาที่สำหรับคนที่จำเป็นต้องเสียไป การตรวจแล็ปอย่างเดียวไม่ใช่แค่น้ำยา เพราะโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้น ผู้ตรวจต้องใส่ชุดป้องกันเป็นอย่างดี ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอ”

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจหาเชื้อไปแล้วกว่า 30,000 คน แบ่งเป็น กลุ่มผู้ที่ถูกสอบสวนโรค 10,000 คน ที่กระทรวงสาธารณสุขตรวจหาเชื้อ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 411 คน หรือร้อยละ 4 เท่านั้น ส่วนอีก 20,000 คน ไม่ได้อยู่ในผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI แต่เป็นการเดินทางเข้ามาตรวจด้วยตนเอง ส่วนใหญ่จะใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน สำหรับใครที่สงสัยว่าตนเองเข้าเกณฑ์หรือไม่ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่แอปพลิเคชั่นโรงพยาบาลราชวิถีและแอปพลิเคชั่นกรมควบคุมโรค

“ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะมีการนำเข้าสารสกัด DNA และ RNA ซึ่งที่ผ่านมาตรฐานของ อย. จากนั้นจะกระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อสูง เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมไว้ราว 50,000 เทส ซึ่งจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ เชื้อว่าน้ำยาไม่ขาด ห้องแล็ปมีเพียงพอ ที่ผ่านมา 30,000 เทส ที่ตรวจไปเยอะกว่าประเทศญี่ปุ่นมาก ซึ่งกลุ่มผู้ที่ถูกสอบสวนโรค 10,000 คน ตรวจพบเพียง 3-4% ส่วนคนที่ไม่อยู่ในข่ายไปตรวจ จะพบผู้ติดเชื้อน้อยมาก แต่อยากจะย้ำว่า คนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจไม่ควรตรวจ เพราะเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น”

นายแพทย์โอภาส กล่าวเสริมว่า สำหรับการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ของไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมถึง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 1 แสนชุด ทยอยมาในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะมีเทคนิคการตรวจใหม่ๆ ซึ่งกรมวิทย์ฯ จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐาน ความแม่นยำ และนำมาใช้ต่อไป