สิ่งที่ต้องรู้! ก่อนไปตรวจแล็บ 'โควิด-19'

สิ่งที่ต้องรู้! ก่อนไปตรวจแล็บ 'โควิด-19'

"คนไทยทุกคนต้องได้ตรวจโควิด-19ฟรี" เป็นสิ่งที่มีการเรียกร้อง ทว่าการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติเพื่อรู้ว่าติดโรคนี้หรือไม่ หากตรวจ "ไม่ถูกเวลา" ผลที่แสดง "เป็นลบ" ไม่ได้หมายถึง "ไม่ติดเชื้อ" แต่แปลได้เพียงว่า "ไม่เจอเชื้อ" อาจเรียกว่า "ผลลบลวง"!

ทั้งนี้ “ผลลบลวง” ไม่ได้หมายความว่าผลตรวจผิดหรือเกิดความผิดพลาดในการตรวจที่ห้องแล็บแต่อย่างใด เพราะการตรวจเชื้อในห้องแล็บมีความแม่นยำ หากแต่เกิดจากการไปตรวจที่ “ผิดเวลา”ของคน ทำให้แม้ผลแสดงว่าเป็นลบ ก็ไม่ได้แปลว่า คนๆนั้น “ไม่ติดเชื้อ” หากแต่แปลผลได้เพียงว่าช่วงที่ตรวจ “ไม่เจอเชื้อ”เท่านั้น


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า การตรวจแล็บกรณีโควิด-19 มี 2 วิธี คือ 1.การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ(Real-time RT PCR) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจเฉพาะในห้องแล็บ 2.5 -3 ชั่วโมง ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท
2.การตรวจจากการเจาะเลือด(Rapid test) แต่โควิด-19เลือดไม่ใช่เป็นจุดที่มีเชื้อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดกรณีโรคนี้ไม่ได้เป็นการหาเชื้อ แต่เป็นการหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ใช้เวลาตรวจ 15-30 นาที ปัจจุบันเป็นการนำเข้าชุดตรวจราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมกำลังพัฒนาชุดตรวจให้อยู่ในราคาชุดละ 200 บาท

158452248978


ประโยชน์ในการตรวจแล็บหลักๆ ได้แก่ 1.เอาไว้วินิจฉัยรักษาโรค เพื่อแสดงว่าคนนี้เป็นโรคหรือไม่เป็นโรค วิธีที่เป็นมาตรฐานใช้ทั่วโลก คือการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ หากผลแสดงว่าเจอเชื้อ แปลว่าเป็นโรค ก็ให้การรักษา และเมื่อให้การรักษาแล้วเชื้อหายหรือหมดไปหรือไม่ 2.เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค กรณีพบผู้ที่มีเชื้อ ก็จะต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อให้คนอื่น ก็จะมีมาตรการกักตัว หรือแยกกัก 3.เป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยา เอาไว้ใช้ในการกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคต่างๆ หรือประโยชน์ในการฉีดวัคซีน

158453453143


นายแพทย์โอภาส อธิบายเพิ่มเติมถึงการแปลผลแล็บโควิด-19ว่า วันแรกที่ได้รับเชื้อถึงวันที่มีอาการ เรียกว่าระยะฟักตัวของโรค หากตรวจแล็บด้วยวิธีการเชื้อในทางเดินหายใจ ในช่วงระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจแล็บ คือ ทำให้รู้ว่า “คนนี้ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการ” แต่การตรวจในช่วงเวลานี้จะแปลผลค่อนข้างยากและโอกาสเจอเชื้อค่อนข้างน้อย หากตรวจแล้วผลเป็นลบ ก็บอกได้ว่า “ไม่เจือเชื้อ” แต่ไม่ได้แปลผลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีอาการแล้วถึงจะตรวจเจอเชื้อ 

“การตรวจแล็บในระยะฟักตัวของโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ ผลที่เป็นลบก็บอกได้เพียงวันที่ตรวจไม่เจอเชื้อ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ ต้องดูต่อไปว่าในช่วงเวลาที่ยังไม่เกินระยะฟักตัวของโรค 14 วันนั้นมีอาการป่วยหรือไม่ หากป่วยก็ต้องไปตรวจแล็บใหม่อีกครั้ง ไม่ได้หมายความว่าเคยตรวจตอนที่ยังไม่มีอาการป่วยแล้วไม่ต้องไปตรวจซ้ำแต่อย่างใด ซึ่งการแปลผลจะต้องพิจารณาผลแล็บควบคู่กับอาการของผู้ป่วยทุกครั้ง ขณะที่หากไปตรวจแล็บในช่วงเวลาที่มีอาการแล้ว จะตรวจเจอเชื้อ 100 % จึงมีประโยชน์ในการวินิจฉัยและควบคุมโรค”นายแพทย์โอภาสกล่าว 

นายแพทย์โอภาส อธิบายต่อว่า ผู้ที่ติดเชื้อหลังจากมีอาการราว 5-7 วัน จึงจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันด้วยวิธีการเจาะเลือดได้ แต่หากตรวจจากเลือดในช่วงเวลาที่ยังไม่มีอาการใดๆนั้น ภูมิคุ้มกันก็ยังไม่เกิดขึ้น การไปเจาะเลือดตรวจโดยยังไม่มีอาการ หากผลเป็นลบก็จะแปลผลได้ว่า “ยังไม่มีภูมิเกิดขึ้น” ไม่ได้แปลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะอาจจะอยู่ระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ อาจจะติดเชื้อและมีอาการเกิดขึ้นทีหลังได้ แต่หากผลเป็นบวกแสดงว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ก็แปลผลได้ว่า “คนนี้ติดเชื้อแล้วแต่เมื่อไหร่ไม่รู้” ดังนั้น การเจาะเลือดตรวจในกรณีที่ยังไม่มีอาการใดๆก็เหมือนจะไม่มีประโยชน์ จึงควรเจาะเลือดตรวจหลังมีอาการป่วย 5-7 วัน 

158452251423
“การแปลผลทุกครั้งต้องทำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ควรตรวจเองและไม่ควรแปลผลเข้าข้างตัวเอง และจะต้องแปลผลแล็บโดยไล่เลียงกับอาการป่วยของคนไข้เสมอ ไม่ได้แปลว่าตรวจทุกคนแล้วจะรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ เพราะฉะนั้น การตรวจทุกอย่างต้องมีวัตถุประสงค์ในการตรวจที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจให้ฟรีทั้งในคนที่ต้องตรวจเชื้อทางเดินหายใจเพื่อวินิจฉัยโรคและตรวจเลือดเพื่อติดตามการควบคุมโรค”นายแพทย์โอภาสกล่าว 

หากเทียบสถานการณ์การพบผู้ป่วยในประเทศไทยที่ปัจจุบันมียืนยัน 212 ราย จำเป็นที่ทุกคนจะต้องไปตรวจแบบเจาะเลือดหรือไม่ นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การจะตรวจแล็บต้องดูว่าต้องการประโยชน์อะไร หากตรวจด้วยการเจาะเลือดแล้วไปตรวจในช่วงที่ยังไม่มีอาการเป็นระยะฟักตัวก็ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนนำเงินไปทิ้งเล่น หรือมีอาการเพียง 1 วันไปเจาะเลือกตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น มาตรฐานการตรวจตอนนี้ยังเป็นการตรวจหาเชื้อจากทางเดินหายใจอยู่เพราะเร็วที่สุด แม่นยำที่สุดและนำไปควบคุมโรคได้ และตามที่องค์การอนามัยโลกหรือฮูแนะนำสำหรับการเจาะเลือดตรวจนั้น เพื่อศึกษาทางระบาดวิทยา 

“การตรวจแล็บมากไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี จะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่นๆที่ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วยเสมอ อย่างเช่น เกาหลีใต้ตรวจแล็บมากก็ควบคุมโรคได้ดีโดยมีมาตรการอื่นด้วย ขณะที่ญี่ปุ่นตรวจแล็บค่อนข้างน้อย แต่ก็ควบคุมโรคได้ดีเช่นกัน เพราะมีมาตรการให้คนอยู่ในบ้าน ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด”นายแพทย์โอภาสกล่าว 

158452253332
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรองห้องแล็บที่สามารถตรวจโควิด-19ได้จำนวน 40 แห่ง มีศักยภาพตรวจได้วันละ 4,000-5,000 ตัวอย่าง แต่ปัจจุบันมีตัวอย่างส่งตรวจราว 500 ตัวอย่างต่อวัน และจะขยายห้องแล็บตรวจให้ได้ 100 แห่ง จะทำให้มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน 

ท้ายที่สุด นายแพทย์โอภาส แนะนำประชาชนในการตรวจแล็บโควิด-19ว่า ขอให้ประชาชนเช็คประวัติตัวเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการป่วยให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจฟรีไม่ว่าตรวจแล้วผลจะออกมาติดหรือไม่ติดเชื้อก็ตาม แต่หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถรอได้