'กลุ่มบริการ'ครองตลาดหุ้นไทย เบียด'พลังงาน'ขึ้นเบอร์หนึ่ง

'กลุ่มบริการ'ครองตลาดหุ้นไทย เบียด'พลังงาน'ขึ้นเบอร์หนึ่ง

หุ้นกลุ่มบริการพุ่งต่อเนื่อง ดันมาร์เก็ตแคปรวมแตะ 4.38 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วน 25% อันดับหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ขณะที่ P/E กลุ่มพุ่งแตะ 40 เท่า นักวิเคราะห์แนะเลือกลงทุนหุ้นที่ขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในและนอกประเทศ

เดิมทีกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นสัดส่วนใหญ่คือ กลุ่มพลังงาน แต่ปัจจุบันหุ้นกลุ่มบริการขึ้นมาเป็นสัดส่วนใหญ่อันดับหนึ่งของตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดประมาณ 4.38 ล้านล้านบาท หรือ 25.6% ของมูลค่าตลาดรวม 17 ล้านล้านบาท ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์ลดลงไปเหลือประมาณ 23.3%

การเติบโตของกลุ่มบริการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน ได้แรงหนุนสำคัญจากหมวดหลัก 2 หมวด คือ ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งมีหุ้นที่เติบโตอย่างโดดเด่น คือ ท่าอากาศยานไทย (AOT) บีทีเอส (BTS) ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และหมวดพาณิชย์ ซึ่งมีหุ้นเติบโตดีอย่าง ซีพีออลล์ (CPALL) โฮมโปร (HMPRO) และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า การขึ้นมานำตลาดของหุ้นกลุ่มบริการสอดคล้องไปกับการขยายตัวของสังคมเมือง และการเชื่อมโยงกันของโลก ขณะเดียวกันธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มบริการเองก็มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหมวดค้าปลีก โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว โรงแรม และสุขภาพ

“เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนจีดีพีของไทย ภาคบริการก็เป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันธุรกิจพลังงานเองก็ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากดูจากเทรนด์ของโลกแล้ว ธุรกิจบริการน่าจะเป็นกลุ่มที่นำตลาดต่อไปหลังจากนี้” นายกิจพณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มูลค่าหุ้นของกลุ่มบริการถือว่าค่อนข้างสูงจากระดับอัตราส่วนกำไรต่อราคาหุ้น(P/E) ปัจจุบันที่ 40 เท่า จึงจำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละหมวดธุรกิจมากขึ้น อย่างกลุ่มท่องเที่ยว แม้ P/E จะยังสูงราว 30 เท่า แต่ก็ยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อได้ และที่สำคัญคือผู้ประกอบการปัจจุบันเริ่มยกระดับออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

“ด้วยราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวระดับนี้ หากหวังการเติบโตจากในประเทศอย่างเดียวคงจะไม่พอ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะเติบโตไปยังภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น ราคาปัจจุบันก็มีความสมเหตุสมผลมากขึ้นบ้าง”

ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วง 5-7 ปีก่อน ปัจจุบันปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมีน้อยลง โดยหลักเกิดจากการลดลงของลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ด้านกลุ่มพลังงานที่ยังคงสัดส่วนมาร์เก็ตแคปในระดับประมาณ 23% ของตลาดรวม ได้แรงหนุนสำคัญจากหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคอย่างโรงไฟฟ้าต่างๆ แต่หากพิจารณาธุรกิจพลังงานดั้งเดิมจะเห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นเข้ามากดดันราคา รวมถึงต้นทุนในการผลิตพลังงานในระยะหลังก็ลดลงมาก โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ทำให้การอุดหนุนจากภาครัฐก็ลดลงในเกือบทุกประเทศ

“เดิมทีคนมองว่าผู้ครอบครองพลังงานจะมีความน่าสนใจ เพราะเป็นทรัพยากรที่จำกัด แต่การผลิตพลังงานในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ข้อจำกัดและข้อได้เปรียบนี้หายไป”

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจในกลุ่มบริการและพลังงานจะยังเป็นสองกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นเมกะเทรนด์ของไทยถัดจากนี้

สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างมากในระยะหลัง เป็นไปตามการเติบโตของประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีจุดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการย้ายฐานลงทุนของโลกมายังภูมิภาคนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงหนุนให้กับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจบริการ

ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการพลังงานรูปแบบเดิม (Conventional energy) มาใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy) ซึ่งเป็นแนวทางที่โลกกำลังเดินไป โดยภาครัฐมีนโยบายในการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของชีวมวล ซึ่งฐานของประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่ก่อน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-จบดีลผู้ถือหุ้นใหญ่ 'โนเบิล' จับตาดึงต่างชาติรุกอสังหาฯ

-'กลุ่มบริการ'ครองตลาดหุ้น

-ลุ้นหุ้นไทยวันนี้ยืนแดนบวกต่อ

-เปิดโผ 10 ชาติ แชมป์ถือครองหุ้นไทยสูงสุดปี62