ปิดฉาก178 ปี ‘โทมัส คุก’ พ่นพิษโรงแรมไทย!

ปิดฉาก178 ปี ‘โทมัส คุก’ พ่นพิษโรงแรมไทย!

ปิดตำนานบริษัททัวร์เก่าแก่ที่สุดในโลก สำหรับ “โทมัส คุก” (Thomas Cook) ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีอายุถึง 178 ปี พลันที่ประกาศ “ล้มละลาย” เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา

หลังคว้าน้ำเหลวในการทำข้อตกลงกอบกู้กิจการกับเจ้าหนี้และหุ้นส่วนใหญ่ คาดส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารทั่วโลกกว่า 6 แสนคน โดยหนึ่งในจุดหมายที่โดนหางเลขไปด้วยคือประเทศไทย!

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบและความเสียหายที่มีต่อภาคท่องเที่ยวไทยจากกรณีโทมัส คุก ประเทศอังกฤษล้มละลาย โดยในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ททท.จะประชุมกับซัพพลายเออร์ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับแนวทางการรับมือ เช่น บริษัท เอเชียน เทรลส์ ซึ่งเป็น Destination Management Company หรือ DMC หลักของโทมัส คุก และผู้ประกอบการโรงแรมต่างๆ อาทิ อนันตรา ดุสิตธานี และมันดารา ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้แนวคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ

“ก่อนเกิดกรณีนี้ ททท.มองตลาดอังกฤษเที่ยวไทยปีนี้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว จึงขอบวกเป้าหมายนักท่องเที่ยวอังกฤษเพิ่มอีก 5 หมื่นคน จากเป้าเดิมกว่า 9 แสนคน ให้มียอดใกล้เคียง 1 ล้านคน แต่พอเกิดเหตุ จำเป็นต้องทบทวนการเพิ่มเป้าอีกครั้ง” ยุทธศักดิ์ เผย

ขณะที่ ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. เห็นว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวอังกฤษมาไทยแน่นอน แต่จะแตกต่างจากนักท่องเที่ยวอังกฤษที่ไปตุรกีและอียิปต์ซึ่งไม่มีเที่ยวบินกลับประเทศ เพราะใช้บริการสายการบิน Condor ของโทมัส คุกที่ไปส่งลูกค้าแล้วไม่รับกลับ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องหาทางช่วยนำกลับ

ขณะที่นักท่องเที่ยวอังกฤษมาไทยซึ่งแต่ละปีทางโทมัส คุกจองโรงแรมในไทยปีละ 2.7 หมื่นคืน จะใช้บริการของสายการบินทั่วไป และเป็นตั๋วแบบไป-กลับ

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจึงเป็น “โรงแรม” ที่รับลูกค้าของโทมัส คุกเข้าพักแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เพราะมีข้อตกลงจ่ายภายใน 30 วัน แต่พอบริษัทโทมัส คุกประกาศล้มละลาย ททท.จึงได้รับรายงานว่าโรงแรมหลายแห่งใน จ.พังงา ได้รับความเสียหายไปแห่งละ 7-8 แสนบาท ส่วนลูกค้าที่อยู่ระหว่างเข้าพัก คงต้องให้เป็นดุลยพินิจของโรงแรมว่าจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ ได้ประสานให้สมาคมโรงแรมไทยรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงแรมต่างๆ มายัง ททท. เพื่อนำไปหารือกับสถานทูตอังกฤษและองค์กรของรัฐบาลอังกฤษ เช่น สำนักงานบริหารหนี้ของอังกฤษ เพื่อติดตามหนี้สิน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปี หรือนานกว่านั้น แต่อย่างน้อยก็จะได้มีหลักฐานแสดงว่าเป็นหนี้สูญในการยื่นภาษีว่าโรงแรมนั้นๆ ได้รับความเสียหายจริง

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า จากการประเมินเบื้องต้น โรงแรมในสมุยและภูเก็ตได้รับผลกระทบ แต่ไม่มาก ส่วนกรุงเทพฯและในภาคเหนือได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากช่วงนี้ท่องเที่ยวไทยอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่น

ด้าน วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) มองว่า จากกรณีนี้ทำให้บริษัททัวร์ต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี เมื่อการซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวผ่านบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) มาแรง สร้างการแข่งขันรุนแรงแก่บริษัททัวร์ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนให้ถูกทิศ ถึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โทมัส คุก ประเทศอังกฤษเองก็เจอปัจจัยลบหลายอย่าง ไม่ได้มีแค่การแข่งขันรุนแรงจาก OTA และสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้ลูกค้าไหลไปจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังเผชิญจังหวะเงินปอนด์อ่อนค่า และความไม่แน่นอนของเบร็กซิท เมื่อลูกค้าหายไป ในภาวะที่ “ต้นทุนค่าใช้จ่าย” ยังเท่าเดิม ก็อยู่ไม่ได้

นับเป็น บทเรียนของบริษัททัวร์ในไทยให้เร่งปรับตัวพร้อม รีดไขมันขององค์กร เพื่อให้อยู่รอดอย่างแข็งแรง ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้มากที่สุด ใช้คนให้น้อยที่สุด เพื่อรับใช้ตลาดออนไลน์ให้มากที่สุด!