5องค์กรตั้งกองทุนเครื่องมือแพทย์

5องค์กรตั้งกองทุนเครื่องมือแพทย์

5 องค์กรบริหารงานวิจัยลงขันรวม 100 ล้านบาทตั้งกองทุน TMTE Fund ผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ของภาคธุรกิจเอกชนสู่เชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าปีแรก 50 ราย

5 องค์กรบริหารงานวิจัยลงขันรวม 100 ล้านบาทตั้งกองทุน TMTE Fund ผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ของภาคธุรกิจเอกชนสู่เชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าปีแรก 50 ราย 5 องค์กรบริหารงานวิจัยลงขันรวม 100 ล้านบาทตั้งกองทุน TMTE Fund ผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ของภาคธุรกิจเอกชนสู่เชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าปีแรก 50 ราย 


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เท็ดฟันด์) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงขันหน่วยงานละ 20 ล้านบาทจัดตั้งกองทุน TMTE Fund (Thailand MED Tech Excellence Fund) สนับสนุนบริษัทเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์สู่เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยมีเกณฑ์พิจารณาจากระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาดจนถึงความพร้อมด้านการผลิตสู่เชิงพาณิชย์


ศ.นพ. อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นวัตกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ฉะนั้น กองทุน TMTE Fund จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ออกมาเป็นรูปธรรม และจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์ไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ที่ผ่านมา งานวิจัยไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ แต่จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ทุกภาคส่วนพัฒนานวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น กองทุนนี้จึงเข้ามาตอบโจทย์”


ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการสถาบันอุดมศึกษาร่วมภาคเอกชน พัฒนาการศึกษา การวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ กล่าวว่า เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดดุลทางการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมสัญชาติไทย เพื่อช่วยลดการนำเข้าและ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะที่เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์มีศักยภาพ ทั้งยังมีส่วนผลักดันให้เป็นเมดิคัลฮับในระดับภูมิภาคและระดับโลก


  ขณะเดียวกันยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีกลไกอื่นๆ ซึ่งเชื่อมต่อในกระบวนการพัฒนางานวิจัยผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มวิชาชีพ เช่น โครงการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ (NCRC) กลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


นายพงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. คาดว่าในปีแรกจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 50 ราย เงื่อนไขจะต้องมีงานวิจัยที่พร้อมนำไปต่อยอดแล้ว ไม่ใช่มีแค่ไอเดียเท่านั้น โดยในระยะแรกจะได้รับทุนจากเท็ดฟันด์ในการปรับปรุงต้นแบบ จากนั้นส่งต่อไปยัง สกว. สวรส.เพื่อทดสอบต้นแบบ ถัดมาเป็นการทดลองผลิตเพื่อให้พร้อมสู่การเข้าตลาด มีทั้ง สวทช. ทีเซลส์ และเท็ดฟันด์ อีกครั้ง เป็นการให้ทุนตามเงื่อนไขของแต่ละหน่วยที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มาทำด้วยกันเสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ โดยไม่ได้จำกัดกรอบการวิจัยเนื่องจากเป็นปีแรก ผู้ประกอบการสามารถส่งข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ก.ย.เพื่อให้ทันรับปีงบประมาณ 2562


 “เฟสแรกอยากเห็นเมดิคัลดีไวซ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด อินโนเวชั่นไม่จำเป็นต้องก้าวหน้ามาก แค่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างได้ก็พอ เช่น เทคนิคการผ่ามะเร็งต่อมลูกหมากก็สามารถเป็นอินโนเวชั่นได้ หรือการออกแบบมีดผ่าตัดนิ้วล็อกก็ไม่ใช่เทคโนโลยีซับซ้อนแต่แก้ปัญหาได้จริง”