Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 April 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 April 2024

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวลงเล็กน้อย หลังความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางปรับลดลง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-93 เดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 29 April 2024

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 เม.ย.- 3 พ.ค. 67) 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวลง เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางปรับลดลงภายหลังความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านยังคงอยู่ในวงจำกัด และการโจมตีตอบโต้ของทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังเพื่อหวังผลเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ทั้งนี้ ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากการที่สหรัฐฯ อนุมัติวงเงินช่วยเหลือทางการทหารครั้งใหม่แก่ชาติพันธมิตร ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง ซึ่งจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นเดียวกัน
 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มผ่อนคลายลงและอยู่ในระดับที่ตึงเครียดน้อยที่สุดในรอบเดือน ภายหลังการโจมตีของอิสราเอลต่อฐานทัพอากาศของอิหร่าน ส่งผลกระทบในวงจำกัดและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ขณะที่อิหร่านเองก็ยังไม่ได้มีการตอบโต้ต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอิสราเอลอาจมีการโจมตีนอกรูปแบบต่ออิหร่านในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่อาจสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ล่าสุดสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการทหารต่อยูเครน, อิสราเอล และประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงไต้หวันด้วย 

-  นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการพิจารณาการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติมของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการพิจารณาในวุฒิสภา โดยในเบื้องต้น Energy Aspects คาดว่าหากมาตรการใหม่นี้จะทำให้การส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านปรับลดลง 0.2-0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่มีการส่งออกน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 67 

-  ตลาดจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. นี้ โดยตลาดคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ระดับ 2% หลังอัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 3.5% นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากเดือน ม.ค. และ ก.พ. 67 ที่ระดับ 3.1 และ 3.2% ตามลำดับ โดยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงที่ 5.25-5.50% ย่อมส่งต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน


 

-  ตัวเลขเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนเดือน เม.ย. 67 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.4 จาก 50.5 ในเดือน มี.ค. 67 และถือเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวนี้ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิตของสหรัฐฯ และจีนในเดือน เม.ย. ที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50 เช่นเดียวกัน โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องใน 3 เขตเศรษฐกิจหลักของโลก คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

-  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 67, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน เดือน เม.ย. 67  และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ จีดีพีไตรมาสที่ 1/67 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน เม.ย. 67 
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 26 เม.ย. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 83.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.21 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 89.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 88.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 เม.ย. 67 ปรับตัวลดลงกว่า 6.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับที่ 453.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากตัวเลขดัชนี PMI ยุโรปของเดือนมี.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.4 ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าว่าจะปรับเพิ่มสู่ระดับ 50.7 เช่นเดียวกับตัวเลขการจ้างงานปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66 แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของยุโรปที่เริ่มแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดคลายความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังพบว่าอุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การโจมตีระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน โดยนักวิเคราะห์จากธนาคาร UBS คาดการณ์ว่ากลุ่ม OPEC+ ยังคงมีกำลังการผลิตสำรองไว้ราว 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 6% ของความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลก